เรื่องต้องรู้ เมื่อธนาคารปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลง

หลายคนอาจเคยได้ยินการพูดถึงประเด็นที่ธนาคารปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงจากความคุ้มครอง 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาทกันบ้างแล้ว ทั้งจากข่าวสารต่างๆ หรือเพื่อน คนรู้จักต่างพูดถึงเรื่องนี้กันมาบ้าง อาจจะเกิดความสงสัยว่าการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงคืออะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับเราบ้าง วันนี้เราเลยจะมาพูดคุยเรื่องนี้กันให้เพื่อนๆ ได้ทราบกัน

วงเงินคุ้มครองเงินฝาก คืออะไร

การคุ้มครองเงินฝาก เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาเป็นกฎหมายเรียกว่า “ กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก” โดยมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นผู้ดูแล ด้วยจุดมุ่งหมายคือต้องการสร้างหลักประกันความมั่นคง และความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่นำเงินบาทมาฝากกับสถาบันการเงินต่างๆ ในประเทศ ที่อยู่ภายใต้การรับรองเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค ว่าจะได้รับเงินที่ฝากคืนภายในเวลาที่กำหนด จากสถาบันคุ้มครองเงินฝากหากธนาคารปิดกิจการหรือล้มละลายโดยไม่ต้องรอให้ธนาคารชำระบัญชีเสร็จสิ้น  ซึ่งจะคุ้มครองเงินฝาก 5 ประเภทได้แก่  เงินฝากออมทรัพย์ ,เงินฝากกระแสรายวัน , เงินฝากประจำ, ใบรับฝากเงิน, บัตรเงินฝาก

ทำไมถึงต้องปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก

เพื่อนๆ อาจสงสัยเหมือนกันใช่มั้ยล่ะ ว่าในเมื่อภาครัฐมีมาตรการคุ้มครองเงินฝากย่อมเป็นผลดีกับประชาชน แล้วทำไมต้องมีการปรับลดวงเงินความคุ้มครองด้วยล่ะ  เหตุผลก็คือแต่เดิมในสมัยก่อนการประกันความเสี่ยงในการฝากเงิน อาศัยแต่เพียงระบบคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นหลักประกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันภาครัฐเล็งเห็นว่าสถาบันการเงินในประเทศเองมีความเข็มแข็งเพียงพอ และมีมาตรการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม นอกจากนี้ยังมีสภาพคล่องสูง ดูได้จากระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ (BIS ratio) ของธนาคารไทย อยู่ที่ร้อยละ 20 ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค อีกทั้งธนาคารไทยเองยังมีสภาพคล่องที่ดี ทำให้ภาครัฐมั่นใจว่าธนาคารสามารถแบกรับความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงเพื่อลดภาระงบประมาณของภาครัฐ และนำงบประมาณไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นต่อไป

เราต้องทำอย่างไรต่อ

เมื่อเพื่อนๆ เข้าใจถึง วงเงินคุ้มครองเงินฝากและ สาเหตุที่ทางภาครัฐต้องปรับลดวงเงินลงแล้ว คำถามที่ตามมาของทุกคนคือแล้วเราต้องทำอย่างไรต่อล่ะ ซึ่งทางเราขอแนะนำเพื่อนๆ ตรวจสอบบัญชีเงินฝากของเราเอง หรือของคนในครอบครัว ว่ามีบัญชีไหนที่เกิน 1 ล้านบาทหรือไม่ เพื่อวางแผนกระจายความเสี่ยงในข้อต่อไป แต่ตรงนี้แนะนำว่าหากเพื่อนๆ ฝากเงินกับธนาคารของรัฐ ต่อไปนี้

  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธอส.
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธกส.
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ตรงนี้ไม่ต้องดำเนินการอะไรเพราะ ธนาคารทั้ง 4 แห่งไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก เนื่องจากมีรัฐบาลเป็นผู้ประกันเงินฝากให้

แล้วถ้ามียอดเงินฝากเกินละ

​หากพบว่ามีบัญชีธนาคารที่มียอดเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทแล้วก็แนะนำให้เพื่อนๆ วางแผนกระจายความเสี่ยงให้กับเงินฝากของเราดังนี้

  1. ​กระจายเงินฝากของเราไปยังสถาบันการเงินอื่น เพื่อลดความเสี่ยงจากการฝากเงินธนาคารเพียงแห่งเดียว และยังมีโอกาสได้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่สูงกว่าที่เดิมอีกด้วย  โดยแต่ละธนาคารก็จะมีผลิตภัณฑ์เงินฝากต่างๆ ให้บริการกับลูกค้าซึ่งเพื่อนๆ สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลในเว็บไซต์ธนาคารที่สนใจ เพื่อพิจารณานำเงินไปฝากได้
    • เช่น สมมติมีเงินฝากในธนาคารกรุงเทพอยู่ 2 ล้านบาท ก็กระจายไปเปิดบัญชีไว้ในอีกธนาคารหนึ่งอีก 1 ล้านบาทได้
  2. แบ่งเงินของเราไปลงทุนต่อในประเภทการลงทุนอื่น  โดยการออมเงินในปัจจุบันนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเก็บออมในรูปแบบเงินฝากแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีอีกหลายวิธีที่จะทำให้เงินของเรางอกเงยมีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งเราสามารถพิจารณาการนำเงินของเราไปลงทุนต่อในช่องทางต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความถนัดหรือความเสี่ยงที่รับได้ เช่น การลงทุนในกองทุนรวม  การซื้อสลากธกส. ซื้อสลากออมสิน ซื้อทองคำ พันธบัตร หรืออสังหาริมทรัพย์

ธนาคารไหน อยู่ไหนสถาบันคุ้มครองเงินฝากบ้าง

ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (19 แห่ง)

  1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  5. ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
  6. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
  7. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  8. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
  9. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
  10. ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
  11. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
  12. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
  13. ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
  14. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
  15. ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  16. ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน)
  17. ธนาคารเอเอ็นแซด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
  18. ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย) จำกัด (มหาชน)
  19. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (11 แห่ง)

  1. ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส
  2. ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
  3. ธนาคารซิตี้แบงก์
  4. ธนาคารอาร์ เอช บี จำกัด
  5. ธนาคารแห่งอเมริกา เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น
  6. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
  7. ธนาคารดอยซ์แบงก์
  8. ธนาคารมิซูโฮ จำกัด
  9. ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์
  10. ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
  11. ธนาคารอินเดียน โอเวอร์ซีส์

บริษัทเงินทุน (2 แห่ง)

  1. บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน)
  2. บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน)

บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (3 แห่ง)

  1. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เอสเบ จำกัด
  2. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เวิลด์ จำกัด
  3. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo