ช่วงโควิด-19 วางแผนการเงินอย่างไรให้ปลอดภัย

           โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ และการทำมาหากินของคนเราในปัจจุบันนี้เป็นอย่างมาก หลายคนอาจจะมีรายได้ลดลง หลายคนอาจจะตกงาน หรือกิจการที่เปิดดำเนินการได้แล้ว หลังจากปิดมานาน ก็ไม่ได้มีลูกค้ากลับมาใช้บริการเยอะเท่าเดิม ซึ่งนอกจากจะหารายได้ได้อย่างยากลำบากแล้ว สินค้าต่าง ๆ ก็กลับขึ้นราคาสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การควบคุมค่าใช้จ่าย หรือการวางแผนทางการเงินเป็นไปอย่างยากลำบาก หลายคนที่คิดว่าในสภาวการณ์แบบนี้ จะวางแผนทางการเงินในการใช้จ่ายหรือเก็บออมอย่างไรดีให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ วันนี้ไหนดี จึงขอมาแนะนำว่า ใน “ช่วงโควิด-19 วางแผนการเงินอย่างไรให้ปลอดภัย” มีเงินออมเหลือเก็บ ไปดูรายละเอียดกันได้เลย

วิธีวางแผนทางการเงินในยุคโควิด-19 ให้เงินพอจ่าย เหลือเก็บออม

  1. จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ก่อนจะวางแผนทางการเงินได้นั้น เราต้องทราบถึงรายรับและรายจ่ายของเราเสียก่อน ว่าในแต่ละเดือนเรามีรายรับมาเท่าไหร่ และมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง หักลบกันแล้วจะเหลือเงินเก็บเท่าไหร่ เพื่อนำมาวางแผนทางการเงิน และบริหารค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราต่อไป
  2. หารายได้เสริมหลายช่องทาง ยุคโควิดแบบนี้ หลายคนอาจมองว่าเป็นวิกฤต แต่ความจริงแล้วมองให้ดีก็มีโอกาสซ่อนอยู่ เช่น หลายคนอาจได้ทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้ตอนเย็นหลังเลิกงานมีเวลาว่างมากขึ้น เราสามารถใช้เวลาว่างตรงนี้ ทำอาชีพเสริมต่าง ๆ เพื่อหารายได้มาเสริมรายรับ ทำให้เรามีเงินออมเหลือมากขึ้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายประจำเดือนไป
  3. มีเงินสดสำรองไว้บ้าง ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล, หนี้บัตรเครดิต เป็นสิ่งที่ยังไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคต ความมั่นคงทางการเงินของเราจะเป็นอย่างไร การมีเงินสดสำรองไว้สำหรับการใช้จ่ายยามจำเป็น หรือกู้เงินตัวเองไปซื้อสิ่งที่อยากได้ แทนการไปกู้เงินคนอื่น ถือเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ เพราะจะไม่ทำให้เราก่อหนี้สินเพิ่มเติมนั่นเอง
  4. เข้าร่วมมาตรการต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ในสภาวะแบบนี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนออกมามากมาย ซึ่งการเข้าร่วมมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่าย หรือมีสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มมากขึ้น เช่น มาตรการพักหนี้, มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย, มาตรการรวมหนี้ เป็นต้น
  5. วางแผนรับมือความเสี่ยง ในยุคโควิดแบบนี้ การบริหารจัดการความเสี่ยงก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สมควรทำ เช่น การทำประกันสุขภาพ, การทำประกันชีวิต เป็นต้น เพราะการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงเหล่านี้ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของเรายามเจ็บป่วย ทำให้ไม่ต้องเอาเงินเก็บออกมาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตนเอง
  6. วางแผนจัดการหนี้สินของตนเอง สภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ทำมาหากินก็ลำบากแบบนี้ การไม่มีหนี้ถือเป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่ง ดังนั้น หากเราสำรวจตนเอง และพบว่ายังมีหนี้สินอยู่แล้วล่ะก็ ให้รีบวางแผนการจัดการหนี้ของเรา ว่าอันไหนสามารถปิดได้ก่อน อันไหนรีไฟแนนซ์แล้วดอกเบี้ยลดลง ค่างวดถูกลงก็ให้รีบดำเนินการ และที่สำคัญต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มอีก เพื่อให้เรามีเงินเหลือเก็บออมมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo