อยากซื้อหุ้น IPO ตัวใหม่ มือใหม่ควรรู้อะไรบ้าง

​หุ้น IPO หลายคนที่เป็นนักลงทุนหน้าใหม่อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง หรือเคยได้สัมผัสได้ทดลองซื้อหุ้น IPO แห่งปีอย่าง OR ไปแล้ว โดยหุ้น IPO ย่อมาจาก Initial Public Offering หมายถึงการที่บริษัทที่ประกอบกิจการได้ออกมาเสนอขายหุ้นของบริษัทครั้งแรกต่อสาธารณชน โดยนักลงทุนหลายคนชอบที่จะซื้อหุ้น IPO เพื่อการเก็งกำไรเนื่องจากการคาดการณ์ว่าราคาเริ่มต้นอาจจะยังไม่สูงมากนัก มีโอกาสที่จะทำกำไรได้ทั้งในระยะสั้นหรือในระยะยาว รวมทั้งหากเป็นธุรกิจที่ดูแล้วมีการเติบโตสูง บริษัทมีธุรกิจหรือการลงทุนที่น่าสนใจก็มีโอกาสที่จะได้ปันผลจากผลประกอบการที่ดีอีกด้วย  แต่การซื้อหุ้น IPO นั้นไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป หลายครั้งที่ราคาของหุ้นร่วงหล่นไปกว่าราคาเปิดจอง หรือราคาแรกในตลาด ดังนั้นการที่นักลงทุนมือใหม่จะซื้อหุ้น IPO นี้ควรมีการทำการบ้านเตรียมตัวให้พร้อมก่อน โดยวันนี้เราจะมานำเสนอเทคนิคง่ายๆ ให้เพื่อนๆ ได้ลองนำไปใช้กัน

ปรับทัศนคติ

​ปรับทัศนคติ ทำความเข้าใจว่าการลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง การที่เราตัดสินใจซื้อหุ้น IPO ไม่ได้หมายความหุ้น IPO ทุกตัวจะมีราคาขึ้นสูงกว่าราคาเปิดขายเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยตัวอย่างมีให้เห็นมากมายทั้งราคาต่ำจองในทันทีที่เปิดตัว หรือราคาขึ้นไปได้ไม่กี่วันก็ร่วงหล่นลงมาต่ำกว่าราคาเปิด IPO ดังนั้นก่อนการลงทุนเราต้องตอบจุดหมายของการซื้อหุ้นของเราในครั้งนี้ให้ได้ว่ามีจุดประสงค์ใด และเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน

หุ้น วันที่ ราคา IPO เปิดวันแรก ปิดวันแรก ราคาเปิด 14 ก.ย. 64
NCAP 9 พ.ย. 63 2.20 3.20 3.06 12.60
KEX 24 ธ.ค. 63 28.00 65.00 51.25 39.00
OR 11 ก.พ. 64 18.00 26.5 29.25 29.25
TIDLOR 10 พ.ค. 64 36.50 53.50 45.75 38.75
SNNP 20 ก.ค. 64 9.2 11.9 10.4 12.20
MENA 7 ก.ค. 64 1.2 1.60 2.48 1.94
DMT 7 พ.ค. 64 16.00 17.60 15.9 13.80
CV 2 ก.ย. 64 3.9 3.96 3.92 3.80

จากตารางราคาหุ้น IPO เทียบราคาเปิด-ปิด-ราคาปัจจุบัน จะพบว่าไม่ใช่หุ้นทุกตัวจะมีราคาสูงขึ้นจากราคาเปิดตัวเสมอไป

ทำการบ้านก่อนการลงทุน

การที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แถมเป็นบริษัทที่จะเพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยแล้วนั้น สิ่งที่เพื่อนๆ ควรทำคือการทำความรู้จักบริษัทนั้นก่อน ก่อนที่จะฝากเงินของเราไปลงทุน โดยสิ่งที่เพื่อนๆ ควรรู้คือ

  1. ภาพรวมบริษัทว่าประกอบกิจการอะไร แบรนด์สินค้ามีแบรนด์ไหน วิสัยทัศน์และนโยบายทิศทางการลงทุนของผู้บริหารเป็นอย่างไรบ้าง
  2. ดูข้อมูลพื้นฐานทางการเงินของบริษัท เช่น รายได้ ผลประกอบการ กำไรสุทธิ รวมทั้งข้อมูลทางการเงินต่างๆ ว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร หากบริษัทมีผลกำไรต่อเนื่องก็ไม่แปลกที่เราจะอยากลงทุนใช่ไหม แต่หากผลประกอบการติดลบตลอด ก็ต้องมานั่งถามตัวเองแล้วว่าเราจะนำเงินเราไปร่วมลงทุนกับเค้า ด้วยเหตุผลใดกัน
  3. วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางธุรกิจ ว่าบริษัทที่เราจะนำเงินไปลงทุนมีโอกาสในการเติบโตมากน้อยเพียงใด และลักษณะของกิจการที่ทำอยู่มีคู่แข่งเป็นใคร จุดเด่นของบริษัทคืออะไรเพื่อดูทิศทางการเติบโตในอนาคต และความสามารถในการแข่งขัน
  4. ดูจุดประสงค์ของการระดมเงินทุนผ่านการขายหุ้นของบริษัท ว่าการที่บริษัทเปิดขายหุ้นต่อสาธารณะนั้น มีจุดประสงค์เพื่อการนำเงินไปใช้ทำอะไร จะนำไปลงทุนต่อ ไปซื้อกิจการอื่น ไปชำระหนี้สิน สิ่งเหล่านี้จะบอกทิศทางและสถานะของบริษัทกับเพื่อนๆ ว่าบริษัทมีแนวโน้มจะโตไปในทิศทางไหน คุ้มหรือไม่ที่จะลงทุนด้วย

หาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ

การที่หุ้นตัวไหนกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ย่อมเป็นที่สนใจของแวดวงธุรกิจการลงทุน โดยจะมีผู้แนะนำการลงทุนจากสำนักทางการเงินต่างๆ เขียนบทวิเคราะห์ออกมา ซึ่งคุณสามารถนำมาอ่านเพื่อเป็นแนวทางในการประกอบการตัดสินใจ โดยดูว่าแต่ละสำนักให้ราคาหุ้นตัวนี้ไปในทิศทางใด และมองภาพธุรกิจของบริษัทนี้ว่ามีโอกาสเติบโตหรือไม่ หุ้นตัวนี้เหมาะกับการเก็งกำไรระยะสั้น หรือเพื่อการลงทุนระยะยาว ทำให้เรามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน

วางแผนการซื้อหุ้น

การที่เราจะซื้อหุ้น IPO นั้นจะมี 2 วิธีคือ

  1. ซื้อหุ้นผ่านการจองก่อนการเปิดจำหน่ายในตลาด ผ่านธนาคารต่างๆ แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับทางธนาคาร Broker และทางบริษัทเองด้วยว่าจะกำหนดเงื่อนไขในการจองหุ้นก่อนอย่างไรบ้าง
  2. การซื้อขายในตลาดเมื่อถึงวันเปิดขาย

ทั้งสองวิธีนี้จะมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน การซื้อผ่านการจองก่อน แม้อาจได้หุ้นราคาถูก แต่ก็มีความเสี่ยงในกรณีที่ราคาหุ้นเปิดวันแรกมีราคาต่ำกว่าราคาจอง หรือหากการไปซื้อในตลาดข้อดีคือได้ดูทิศทางของราคาหุ้นว่าเป็นไปในทิศทางใด แต่ก็มีข้อเสียคืออาจได้ราคาที่ค่อนข้างสูง ที่เรียกกันว่าทุนสูงซึ่งก็มีความเสี่ยงหากราคาหุ้นวิ่งไปถึงจุดกลับตัวลงมา หรือหมดแรงขึ้นต่อ ทำให้ได้กำไรน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ หรือติดดอยต้องคัทหุ้นทิ้งกลายเป็นขาดทุนไปก็เป็นได้

แหล่งข้อมูลอื่น

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo