ใกล้เกษียณ เตรียมเสบียงหรือยัง วางแผนการเงินอย่างไรดี

ในชีวิตของคนเรานั้นทุกๆ อย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตย่อมต้องมีทั้งจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุด ชีวิตการทำงานก็เช่นกัน เมื่ออายุย่างกรายใกล้ 60 ปี สิ่งที่หลายๆ คนควรทำคือการเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัวหลังจากเกษียณ เมื่อแหล่งรายได้หลักของเราจากการทำงานต้องหมดลง เราต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะวางแผนเลี้ยงชีพอย่างไรต่อไป เราจะวางแผนสร้างความมั่นคงหลังเกษียณมีเงินได้ทำตามเป้าหมายที่อยากทำ มีเงินรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย มีเงินไว้เลี้ยงดูครอบครัวต่ออย่างไร วันนี้เราจะขอนำทุกท่านในเรื่องของการเตรียมเสบียงหลังเกษียณไว้ดังนี้

​1. จัดทำข้อมูลทางการเงินของตัวเราและครอบครัว โดยให้ดูว่าปัจจุบันตัวเราหรือครอบครัวมีรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่และมาจากแหล่งใดบ้าง มีค่าใช้จ่ายที่เป็น Fix cost เท่าไหร่และหากรายได้ประจำที่เราเคยได้ลดทอนลงไป หรือหมดลงรายได้จากแหล่งอื่นๆ เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายของตัวเราและครอบครัวหรือไม่ เพื่อที่จะได้นำมาวางแผนการใช้จ่ายและบริหารเงินในอนาคต

​2. เคลียร์ภาระหนี้สินให้หมดหรือลดลง ภาระหนี้สินในที่นี่หมายถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่างๆ อาทิ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น เพราะจะเป็นตัวลดทอนรายได้ประจำของเราลง และไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มใดๆ ที่จะสร้างรายได้ให้กับเรา ในวันที่รายได้หลักเราลดลง การลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะภาระหนี้สินคือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความสมดุลทางการเงิน และอาจเหลือเงินไว้เก็บออมหรือลงทุนต่อยอดในวันข้างหน้า

​3. วางแผนการลงทุน ในปัจจุบันหากเราไม่ใช่เจ้าของกิจการหรือประกอบอาชีพอิสระ การทำงานในบริษัทเอกชน หรือการรับราชการเมื่อเกษียณมาแล้วหลายๆ ท่านจะได้รับเงินตอบแทนที่ท่านได้ทำงานมาจนเกษียณอายุที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเภทงาน เช่นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ เป็นต้น ซึ่งก่อนเกษียณส่วนใหญ่เราจะรู้คร่าวๆ แล้วล่ะว่าจะได้รับเงินจำนวนเท่าใด ได้รับเป็นก้อน หรือแบ่งจ่ายรายเดือน ก็ให้ทุกท่าน นำเงินก้อนนี้มาแบ่งสรรปันส่วนดังนี้

  • ​เงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ( เงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายต่อวัน * 365 ) = ( เงินที่ต้องใช้จ่าย ต่อปี *  30 ปี ) เราจะได้จำนวนเงินคร่าวๆ สำหรับเงินที่เราต้องเตรียมไว้ใช้จ่ายต่อวัน จนเราถึงแก่กรรมจากโลกนี้ไปแล้วนั่นเอง หลังจากที่เราตัดเงินก้อนสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันออกไปแล้ว ให้นำเงินก้อนที่เหลือ มาจัดสรรปันส่วนดังนี้
    เงินสำรองกรณีฉุกเฉิน เมื่อแก่ชราทุกคนก็หนีไม่พ้นการเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ทุกคน แต่เราเองต้องมั่นใจว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วเราจะมีเงินสำรองในการรักษาตัว มีเงินสำรองสำหรับการให้คนมาดูแลเรา ยามที่เราช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยไหวแล้ว  หรือเตรียมเงินก้อนนี้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  • เงินลงทุน การที่เราใช้เงินที่ได้มาหรือเงินเก็บออมตั้งแต่ทำงานมาทั้งชีวิตไปเรื่อยๆ ในยามที่รายได้เราลดลง หรือไม่มีงานประจำทำมันย่อมหมดลงไปเรื่อยๆ การนำเงินเราไปต่อเงินเพื่อให้งอกเงยต่อไปถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง โดยเราสามารถนำไปลงทุนได้หลายทาง อาทิ
    • การซื้อกองทุนรวมต่างๆ การซื้อหุ้น
    • ​ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อขายทำกำไร หรือปล่อยเช่า
    • การลงทุนทำธุรกิจตามความถนัด ทั้งนี้แล้วแต่ทุกท่านจะเลือกลงทุนตามประสบการณ์ โอกาส ความสามารถในการรับความเสี่ยงและเงินลงทุนที่เอื้ออำนวย
    • เงินสำหรับเป็นรางวัลชีวิต ก็ทำงานมาจนเกษียณแล้ว อย่าลืมให้รางวัลชีวิตกับตนเองบ้าง จะได้ไม่มานึกเสียดายทีหลังว่าจนเกษียณแล้วยังไม่ได้ทำตามฝันของตนเองเลย จะเป็นรถคันใหม่ หรือบ้านหลังน้อยในสวน  หรือการไปเที่ยวต่างประเทศให้หนำใจก็ลองวางแผนตามความชอบ และกำลังทรัพย์ของแต่ละคนเลย

​4. ทำประกันสุขภาพ/ประกันชีวิต อย่างที่กล่าวมาข้างต้นคนเราเมื่อแกชราไป โรคภัยไข้เจ็บก็มาเบียดเบียนแน่นอน ดังนั้นก่อนเกษียณสำคัญมากที่จะต้องทำประกันสุขภาพ ประกันชีวิตเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินของเราในอนาคต  อีกทั้งการทำประกันตั้งแต่อายุยังไม่ 60 เบี้ยประกันก็ยังมีราคาที่ไม่สูงมาก และป้องกันความเสี่ยงหากเราสนใจจะมาทำประกันชีวิตทีหลัง เพราะหากอายุเกิน 60 ไปแล้ว หรือตรวจเจอโรคร้ายแรงภายหลัง บริษัทประกันมักปฏิเสธการทำกรมธรรม์ เพราะถือว่าท่านเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง

​เป็นอย่างไรกันบ้างทุกท่าน แนวทางการเตรียมเสบียงสำหรับเกษียณเบื้องต้น ที่เราแนะนำกันไป ลองนำไปวางแผนและปรับใช้กันตามความถนัดของแต่ละคน แต่อย่าลืมสะสมเสบียงให้พร้อม เพื่อที่จะไม่ต้องมาลำบากภายหลังและได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข

ไหนดี Champ

แชมป์ (Champ) ผู้ที่อยู่ในวงการการเงิน และเศรษฐศาสตร์ มีความชอบในการเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผองเพื่อนและคนรู้จัก เกิดมาเป็นการนำมาเผยแพร่ทางเลือกดีๆในสาธารณะ จบการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ปัจจุบันร่วมเป็นหนึ่งในนักเขียนประจำเว็บไซต์ไหนดี

ไหนดี
Logo