สภาวะเงินเฟ้อ ของแพง เอาตัวรอดอย่างไรดี ลงทุนได้ มีเงินเหลือเก็บ

            ในปัจจุบันผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อโลกของเราอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ หลาย ๆ ประเทศเกิดสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย เนื่องจากไม่สามารถขายสินค้าและบริการได้ดีเท่าเดิม หรือภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักไป รวมทั้งเกิดสถานการณ์เงินเฟ้อขึ้น ข้าวของแพง น้ำมันแพง ซ้ำเติมกันไปหมด

          โดยสภาวะเงินเฟ้อ คือ การที่แนวโน้มของค่าสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนซื้อของได้น้อยลง ค่าของเงินในมือลดลง จึงส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จนเกิดเงินเฟ้อรุนแรง และสภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันของประเทศไทยที่ส่งผลกระทบสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยพื้นฐานหลัก คือ น้ำมันที่แพงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสูงขึ้น จนสินค้าและบริการต่าง ๆ ปรับตัวขึ้นตาม จากสภาวะการณ์ดังกล่าว เราจะเอาตัวรอดอย่างไรดี วันนี้ไหนดีจะมาแนะนำเทคนิคการเอาตัวรอดในสภาวะเงินเฟ้อแบบนี้ ทำอย่างไรดีถึงจะอยู่รอดและมีเงินเก็บ ไปติดตามดูรายละเอียดกันได้เลย

เทคนิคการเอาตัวรอดในสภาวะเงินเฟ้อ อยู่รอดและลงทุนได้

  • วางแผนการใช้เงิน

          จัดลำดับความสำคัญในการใช้เงินของเราเอง ซื้อแต่สิ่งที่จำเป็นต่อการใช้งานและการดำรงชีวิต เพราะการซื้อของในสภาวะเงินเฟ้อ เราจะได้ของที่มีราคาแพงมากกว่าปกติ อีกทั้งการไม่ซื้อของตามอารมณ์และความต้องการของตัวเองมากเกินไป จะทำให้มีเก็บเงินออมไว้ใช้ยามจำเป็นได้อีกด้วย

  • พัฒนาตนเอง หาโอกาสสร้างรายได้

            ในยุคข้าวยากหมากแพง การมีรายได้ทางเดียวอาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การหาอาชีพที่สองที่จะมาเสริมรายได้หลัก ทั้งจากทักษะ ประสบการณ์ที่เรามี หรือการไปเรียนรู้งานพัฒนาอาชีพจากสถาบันต่าง ๆ เพื่อมาสร้างงานสร้างรายได้เสริม ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างกำลังซื้อและสร้างเงินออมให้กับตนเอง เรียกได้ว่าให้ลงทุนกับตัวเองเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ให้พอดีหรือสูงกว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้น

  • มองหาการลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะยาว

            การที่เศรษฐกิจชะลอตัว ข้าวของแพงขึ้น อาจทำให้ราคาหุ้นของหลายบริษัทปรับฐานลดลง เนื่องจากรายได้หรือผลกำไรลดลง ก็ถือเป็นโอกาสที่จะเข้าลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้ หากเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานที่ดี มีสินค้าและบริการเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะหากสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น หุ้นเหล่านี้ก็จะปรับตัวขึ้นไปอยู่จุดเดิมหรือมากกว่าเดิม สามารถสร้างผลกำไรให้กับเราในอนาคตได้นั่นเอง

  • ไม่สร้างหนี้โดยไม่จำเป็น

            เราไม่รู้ว่าสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจะอยู่กับเรานานแค่ไหน การสร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น เช่น เปลี่ยนรถใหม่ ทั้งที่รถคันเดิมก็ยังใช้ได้อยู่ ก็อาจเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง เพราะทั้งในเรื่องของการทำให้รายได้ของเราต้องลดลงกว่าเดิม เพราะไปจ่ายค่างวดรถ อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มมาอีก เช่น ค่าน้ำมัน, ค่าเช็กระยะ, ค่าประกันรถ ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเงินออมของเราในอนาคต

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo