“มรดก” เรื่องวุ่น ๆ ของคนในครอบครัว ใครมีสิทธิได้มรดกของใครกันบ้าง?

สายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวของเรา นอกจากจะเกี่ยวดองกันด้วยความรัก ความผูกพันธ์ระหว่างกันและกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเราอยู่ในสังคม ก็คือเรื่องของเงินทอง โดยจะเห็นได้จากหลาย ๆ กระแสข่าวดัง และประเด็นในสังคม เรื่องของดาราท่านหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ใครหลายคนกลับมาสนใจในเรื่องของทรัพย์สินและมรดกกัน เพราะอาจจะเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้ว กลับเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ ซึ่งอาจะทำให้กลายเป็นเรื่องวุ่น ๆ หรือปวดหัวเอาทีหลังก็ได้ หากไม่มีการทำความเข้าใจ หรือตกลงกันไว้ให้ดีตั้งแต่แรก และในวันนี้ไหนดีเลยอยากจะมาเล่าเรื่องราวของ “มรดก” ว่าหากคนในครอบครัวจากไปแล้ว ใครจะมีสิทธิ์ได้ทรัพย์สินของใครกันบ้าง และควรบริหารจัดการอย่างไรเรื่องมรดก เราไปดูรายละเอียดกันเลย

สิทธิการรับมรดกของคนในครอบครัว ใครได้ของใครรู้ไว้ไม่ปวดหัว

สำหรับสมาชิกในครอบครัวแล้วย่อมผูกพันธ์กันตามสายเลือด และตามกฎหมาย เมื่อมีเรื่องของทรัพย์สิน, สิทธิ และหน้าที่ที่กฎหมายได้ระบุไว้ ดังนั้น เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวถึงแก่กรรม กฎหมายจึงระบุไว้ ในเรื่องของทรัพย์สินของผู้ตาย ซึ่งเราขอสรุปไว้ดังต่อไปนี้

  1. กรณีมีพินัยกรรม พินัยกรรม คือ เอกสารระบุเจตจำนงค์ของผู้ตายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายเอง รวมทั้งทรัพย์สินของผู้ตายด้วย โดยพินัยกรรมจะเกิดผลบังคับใช้ตามกฎหมาย เมื่อเจ้าของพินัยกรรมเสียชีวิต โดยมีการจัดทำเป็นเอกสารลงลายมือชื่อเจ้าของพินัยกรรมพร้อมพยาน ซึ่งทรัพย์สินของผู้ตาย กรณีทำพินัยกรรมไว้จะไม่ยุ่งยาก เพราะได้ถูกระบุไว้แล้ว มรดกที่เจ้าของพินัยกรรมมีอยู่ก่อนเสียชีวิตจะถูกยกให้ผู้สืบทอดตามพินัยกรรมระบุเอาไว้ แต่ทั้งนี้จะไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากเสียชีวิต เช่น เงินประกัน,  เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ฯลฯ ซึ่งผู้ที่ได้รับจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์แทน
  2. กรณีไม่มีพินัยกรรม กรณีที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมระบุเจตจำนงค์เรื่องมรดกเอาไว้ จะเป็นกรณีที่ค่อนข้างยุ่งยาก และเป็นกรณีที่มีเรื่องมีราวฟ้องร้องกันมากที่สุดในเรื่องการแย่งมรดกของคนในครอบครัว ซึ่งกฎหมายได้ระบุเรื่องของมรดกในกรณีที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ ดังนี้
    • ทายาทลำดับที่ 1 = ผู้สืบสันดานโดยตรงจากเจ้าของมรดก ได้แก่ ลูก, หลาน, เหลน ฯลฯ
    • ทายาทลำดับที่ 2 = บิดา, มารดา, เจ้าของมรดก
    • ทายาทลำดับที่ 3 = พี่น้องแท้ ๆ ตามสายเลือด
    • ทายาทลำดับที่ 4 = พี่น้องคนละพ่อ หรือคนละแม่
    • ทายาทลำดับที่ 5 = ปู่, ย่า, ตา, ยาย ตามสายเลือด
    • ทายาทลำดับที่ 6 = ลุง, ป้า, น้า, อา ตามสายเลือด

โดยหากทายาทลำดับ 1 หรือ 2 ยังมีชีวิตอยู่ทายาทลำดับอื่นจะไม่มีสิทธิได้รับมรดก โดยดูได้จากแผนผังดังนี้

สัดส่วนมรดก หากไม่ได้ทำพินัยกรรมใครได้เท่าไหร่แบ่งกันอย่างไร

            เรื่องมรดกยังละเอียดลึกซึ้งไปอีก แม้เราทราบถึงลำดับในการรับมรดกแล้ว แต่แล้วใครจะได้มรดกสัดส่วนเท่าไหร่กันบ้าง ซึ่งตรงนี้กฎหมายก็ได้เขียนระบุเอาไว้ โดยกำหนดการแบ่งสัดส่วนมรดกเอาไว้ โดยขึ้นอยู่กับลำดับของทายาท สำหรับใครจะได้มรดกเท่าไหร่นั้นกฎหมายก็ได้ระบุเอาไว้ ดังนี้

  • กรณีที่ 1 ผู้ตายมีคู่สมรส, มีลูก และบิดามารดาของผู้ตายเสียชีวิตไปแล้ว

= คู่สมรส และลูกจะได้รับมรดกเท่า ๆ กัน โดยหารตามจำนวนคน

  • กรณีที่ 2 ผู้ตายมีคู่สมรส แต่ไม่มีลูก

= บิดา, มารดา และคู่สมรสจะได้มรดกคนละเท่า ๆ กัน

  • กรณีที่ 3 ผู้ตายมีคู่สมรส, มีลูก และบิดามารดาของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่

= คู่สมรส, ลูก และบิดามารดาของผู้ตายได้มรดกเท่า ๆ กันตามจำนวนคน

  • กรณีที่ 4 ผู้ตายมีคู่สมรส, ไม่มีลูก และมีพี่น้อง

= คู่สมรสได้รับมรดกครึ่งหนึ่งของมรดกทั้งหมด และอีกครึ่งหนึ่งพี่น้องแบ่งกันตามจำนวนคน

  • กรณีที่ 5 ผู้ตายมีคู่สมรส ไม่มีลูก ไม่มีพี่น้อง และพ่อแม่ผู้ตายก็เสียชีวิตแล้ว

= คู่สมรสได้รับมรดก 2 ส่วน ที่เหลือแบ่งให้ปู่, ย่า, ตา, ยาย 1 ส่วน

  • กรณีที่ 6 ผู้ตายมีคู่สมรส ไม่มีลูก ไม่มีพี่น้อง และพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ตายก็เสียชีวิตแล้ว

= คู่สมรสได้รับมรดก 2 ส่วน ลุง ป้า น้า อา ได้รับมรดก 1 ส่วน

เป็นอย่างไรกันบ้างกับสัดส่วนการรับมรดกที่เรานำรายละเอียดมานำเสนอกันในวันนี้ เพราะเรื่องมรดกนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวเป็นอย่างมาก ดังนั้นในเมื่อความตายเป็นสิ่งไม่แน่นอน การเตรียมความพร้อมเรื่องมรดก เพื่อให้ทายาทเราหรือคนข้างหลังไม่ต้องมาวุ่นวายภายหลัง ถือเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่การสาปแช่งตนเองแต่อย่างใด รู้อย่างนี้แล้วลองคุยกับคนในครอบครัวเรื่องการวางแผนมรดกไว้ไม่เสียหายแน่นอน

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo