ยุค New Normal นายจ้างต้องปรับตัวอย่างไร คนถึงอยากทำงานด้วย

          จากแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง อย่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิต พฤติกรรมในการดำเนินชีวิตใหม่ หรือที่เราได้ยินการบ่อย ๆ นั่นก็คือ การเกิด “ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)” หลายสิ่งหลายอย่างต้องปรับตัว เพื่อให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากปรับตัวไม่ทัน ปรับตัวไม่ได้ ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ หรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบันได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับการทำธุรกิจที่ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ส่งผลกระตุ้นให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างเข้มข้น เพื่อความอยู่รอด และสอดรับกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้การเป็นเจ้าของกิจการในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะหลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีทั้งสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม และสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เต็มไปหมด แต่ไม่ว่าอย่างไร หัวใจหลักของการทำธุรกิจที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลย คือ เรื่องของทรัพยากรมนุษย์ที่เจ้าของกิจการต่าง ๆ ในปัจจุบัน ต่างก็อยากได้คนที่เก่ง มีความรู้ ความสามารถเข้ามาร่วมงาน เพื่อพัฒนาบริษัทและเป็นกำลังขับเคลื่อนบริษัทไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ แต่การจะดึงดูดคนให้อยากมาร่วมงานด้วยในยุค New Normal แบบนี้ นายจ้างยุคใหม่ต้องปรับตัวอย่างไร วันนี้ไหนดีจะพามาหาคำตอบกัน

New Normal นายจ้างยุคใหม่ ถูกใจคนทำงาน 2022

  1. มีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น หมดยุคของการตอกบัตรเข้าทำงานที่ออฟฟิศลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว การกักตัวหรือการทำงานแบบ Work From Home ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เห็นว่า เราก็สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้นี่ ไม่ต้องฝ่าฟันรถติด ไม่ต้องตื่นแต่เช้า ไม่ต้องกลับบ้านดึก แต่ได้ผลงานเหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ ดังนั้น นายจ้างจะต้องวางรูปแบบการทำงานที่สามารถติดตามประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้ ไม่ว่าพนักงานจะเลือกทำงานที่ไหน รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบการสื่อสารภายในองค์กร เช่น รูปแบบการประชุมที่ต้องมีระบบมารองรับการประชุมออนไลน์, รูปแบบการอนุมัติดำเนินการทางดิจิทัล และรูปแบบการส่งต่อเอกสาร เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น สามารถตอบโจทย์การทำงานในยุคโควิด-19 แบบนี้
  2. เสริมเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากผู้ประกอบการไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปิดช่องว่าง ในเรื่องของการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน หรือเข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกให้แก่การทำงานต่าง ๆ ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องลงทุนติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกทางด้านเทคโนโลยี ที่สามารถเชื่อมการทำงานระหว่างพนักงานที่อยู่ต่างสถานที่ ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เช่น ระบบประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom, ระบบบริการจัดการไฟล์เอกสารร่วมกันบน Cloud Server เป็นต้น
  3. ปรับรูปแบบการประเมินผลงาน “พนักงานคนนี้มาสายประจำ ดังนั้น จะประเมินให้เกรดต่ำ ๆ” แบบนี้คงใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเงื่อนไขทางด้านเวลาการเข้า-ออกงานในยุค New Normal ได้ถูกตัดออกไป องค์กรเองก็ต้องปรับตัวในรูปแบบของการประเมินผลงาน ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ของการทำงานเป็นหลัก มากกว่าการมานั่งจับผิดรายละเอียดยิบย่อยระหว่างการทำงาน เช่น การนำเอาระบบบริหารผลงาน OKR (Objective Key Result) มาใช้ในการวัดผลการทำงานของพนักงานหรือดูความสำเร็จและความเรียบร้อยของงานเทียบกับระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น
  4. ระบบสวัสดิการแบบ Self-Service การทำงานอยู่ที่บ้าน จะให้มาเขียนคำร้องขอเบิกค่ารักษาพยาบาลกับ HR ที่บริษัท หรือมาเบิกอุปกรณ์สำนักงานบ่อย ๆ ก็อาจทำให้พนักงานเกิดความลำบาก รวมทั้งสิ้นเปลืองทรัพยากรต่าง ๆ โดยใช่เหตุ ดังนั้น องค์กรต้องมีระบบบริหารสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจการอนุมัติดำเนินการทางออนไลน์เข้ามาปรับใช้ เพื่ออำนวยความสะดวก ทั้งตัวพนักงานและองค์กรเองด้วย เช่น ระบบการเบิกค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง, ระบบจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ในการทำงาน, งบเบิกอุปกรณ์สำนักงานส่วนตัว สำหรับให้พนักงานสามารถเบิกไปซื้ออุปกรณ์การทำงานได้ด้วยตนเอง เป็นต้น
  5. รูปแบบการจ้างงานที่เลือกได้ การทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้ใครหลาย ๆ คนอาจรับงานเสริม เพราะสามารถตัดเรื่องของการเดินทางและการนั่งประจำสำนักงานได้ การที่องค์กรอยากได้คนเก่ง ๆ เข้ามาร่วมงาน องค์กรอื่นก็อยากได้เช่นกัน ทำให้บางครั้ง คนที่เก่ง มีทักษะ และความรู้ดีเยี่ยม มักมีตัวเลือกที่หลากหลาย แต่การที่องค์กรมีรูปแบบการทำงานที่ให้คนกลุ่มนี้สามารถเลือกทำงานได้ เช่น เลือกว่าจะทำงานกับองค์กรเป็นพนักงานประจำ, ทำงานเป็นโครงการมีกำหนดระยะเวลาจ้าง, ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ย่อมทำให้องค์กรมีโอกาสได้คนเก่ง ๆ เข้ามาร่วมงานมากขึ้นกว่าการไปกำหนดเงื่อนไขที่ค่อนข้างไม่ยืดหยุ่น สำหรับคนทำงานในยุคนี้

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo