วัยทำงาน ก่อนซื้อบ้านหลังแรก ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

          “บ้าน” เป้าหมายในฝันของใครหลาย ๆ คนที่อยากจะมีบ้านสักหลังตามวัตถุประสงค์หรือความต้องการที่แตกต่างกันไป ทั้งมีบ้านเพื่อเริ่มต้นครอบครัวใหม่ มีบ้านเพื่อรองรับสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น หรือมีบ้านเพื่อทดแทนบ้านเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน และเริ่มมีเงินเก็บ หรือมีรายได้เพียงพอที่จะเริ่มต้นซื้อบ้านหลังแรกในฝันของตนเองสักที บางคนอาจจะกังวลว่า แล้วจะซื้อบ้านหลังแรกต้องเตรียมตัวอย่างไร มีขั้นตอนยุ่งยากหรือเปล่า จะซื้อบ้านหลังแรกผ่านได้ง่ายดายไหม ไม่ต้องกังวลไปกับปัญหาเหล่านี้ วันนี้ไหนดีจะพามาหาคำตอบ ไปดูรายละเอียดกันได้เลย

เตรียมตัวก่อนซื้อบ้านหลังแรก สุขใจทั้งก่อนและหลังเข้าอยู่

  1. วางแผนการเงินและประมาณการค่างวดที่รับภาระไหว บ้านนั้นมีหลายราคา ขึ้นอยู่กับขนาด ทำเล และแบรนด์ของนักพัฒนา ดังนั้น ก่อนจะเลือกซื้อบ้าน สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องประมาณการความสามารถในการจ่ายของเราเสียก่อน ว่าปัจจุบันรายรับเท่าไหร่ รายจ่ายปกติเท่าไหร่ และเหลือออมเท่าไหร่ ตรงส่วนเหลือออมนี่เอง ที่เราจะเอามาคำนวณว่า คงเหลือเพียงพอต่อการผ่อนบ้านหรือไม่ เช่น รายได้ 25,000 บาท รายจ่ายปกติ 10,000 บาท เราจะเหลือออม 15,000 บาท เราก็จะได้เอามาเป็นตัวตั้งในการหาบ้านที่ราคาค่างวดผ่อนไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อให้เรารับภาระไหว
  2. เลือกหาซื้อบ้านที่ถูกใจ เลือกหาซื้อบ้านโดยเขียนลิสต์ความต้องการของเราลงในกระดาษหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสียก่อน เพื่อตีกรอบในการหาบ้านให้โดนใจ ในงบประมาณที่เรามีจากข้อ 1 เช่น การเดินทาง : สามารถเดินทางมาที่ทำงานไม่เกิน 1 ชั่วโมงหรืออยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า, สิ่งอำนวยความสะดวก : มีสระว่ายน้ำ, มีฟิตเนส เป็นต้น รวมทั้งไปดูสถานที่จริง สำรวจสภาพแวดล้อม และดูรีวิวต่าง ๆ จากสื่อต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจ
  3. หาธนาคารที่ให้โปรโมชันคุ้มค่า ปัจจุบัน ผู้คนเกือบร้อยละ 80 จะซื้อบ้านผ่านการผ่อนกับธนาคารทั้งนั้น เนื่องจากในปัจจุบัน บ้านค่อนข้างมีราคาสูง การผ่อนบ้านจึงเป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่นิยมมากกว่า ดังนั้นการหาข้อเสนอของธนาคารต่าง ๆ ถือเป็นการทำการบ้านที่สำคัญ ว่าเราจะใช้บริการสินเชื่อบ้านของธนาคารไหน หลัก ๆ ที่แนะนำว่าต้องดู คือ อัตราดอกเบี้ย, วงเงินกู้, ระยะเวลาการผ่อนชำระ, ค่างวด, ส่วนต่างที่อนุมัติ (หลายธนาคารมีโปรโมชันอนุมัติส่วนต่างเงินกู้ นอกเหนือจากค่าซื้อบ้าน ให้เราเอาไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ได้อีกด้วย) จากนั้น ให้เราลองคำนวณค่าใช้จ่าย ว่ารวมแล้ว เราต้องเสียไปเท่าไหร่ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
  4. เตรียมเอกสารยื่นกู้ โดยหลังการทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านกับทางโครงการแล้ว สิ่งต่อมา คือ การเตรียมเอกสารเพื่อขอยื่นกู้กับธนาคาร โดยเอกสารหลัก ๆ ที่ต้องใช้ คือ
    • บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา
    • สำเนาทะเบียนบ้าน
    • เอกสารรับรองรายได้ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน, สลิปเงินเดือน
    • Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
    • ทะเบียนสมรส กรณีกู้บ้านร่วมกับแฟน สามี หรือภรรยา
    • เอกสารการซื้อบ้าน เช่น สัญญาจะซื้อจะขาย, สัญญาอนุญาตก่อสร้างบ้าน เป็นต้น

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo