สรุปนโยบาย 9 มิติ ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่

          หลังจากคุณ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์” ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ ด้วยคะแนนเสียงชนะขาดผู้สมัครรายอื่นกว่า 1.38 ล้านคะแนน นับว่ามากสุดเป็นประวัติการณ์ของการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งจากนโยบายในการหาเสียงของคุณชัชชาติ ได้ประกาศนโยบายกว่า 214 นโยบาย ที่จะเข้ามาพัฒนากรุงเทพมหานคร รวมทั้งคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองหลวงแห่งนี้ โดยสำหรับใครที่กำลังสงสัยว่า แล้วตั้ง 214 นโยบายนี้คุณชัชชาติจะทำอะไร พัฒนาด้านไหนบ้าง วันนี้ไหนดีขอสรุปนโยบาย 9 มิติในการพัฒนากรุงเทพมหานครของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

มิติที่ 1 : ปลอดภัยดี

เป็นการสร้างกรุงเทพมหานครให้ปลอดภัย

  • เน้นการสร้างแผนที่จุดเสี่ยงการเกิดอาชญากรรม
  • มีศูนย์ควบคุมการป้องกันอาชญากรรม และป้องกันบรรเทาสาธารณภัย
  • พัฒนาที่พักชั่วคราว ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงได้
  • ดูแลโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางเท้า สะพานลอย ฯลฯ ให้พร้อมใช้งานได้จริง

มิติที่ 2 : เดินทางดี

พัฒนาระบบการเดินทางในกรุงเทพให้สะดวก ทันสมัย

  • มีระบบควบคุมการจราจรของเมืองแบบอัจฉริยะ (ITMS)
  • พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทั้งสายหลักและสายรอง ภายใต้โครงสร้างราคาที่เชื่อมกัน และมีจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่หลากหลาย
  • พัฒนาทางจักรยานและทางเท้าทั่วกรุงเทพมหานคร

มิติที่ 3 : สุขภาพดี

สร้างระบบสุขภาพที่ดีให้กับคนกรุงเทพ

  • วางระบบเชื่อมโยงประวัติคนไข้ในโรงพยาบาลของกรุงเทพฯ ให้เชื่อมถึงกัน เพื่อส่งต่อและดูแลรักษาได้ทั่วถึง
  • เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร ในศูนย์บริการสาธารณสุข
  • มีโครงการหมอถึงบ้านผ่านระบบ Telemedicine 
  • ขยายเตียงโรงพยาบาลและเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย

มิติที่ 4 : สร้างสรรค์ดี

สร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองแห่งศิลปะ

  • ทำการเปลี่ยนศาลาว่าการเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และพื้นที่สาธารณะ
  • สร้างจุดแสดงศิลปะหรือกิจกรรมทางศิลปะต่าง ๆ ให้ประชาชนสามารถจัดกิจกรรมหรือเสพงานศิลป์ได้ทั่วกรุงเทพฯ
  • ทำห้องสมุดกรุงเทพฯ สู่ห้องสมุดดิจิทัล มีบริการยืมหนังสือออนไลน์และ E-book

มิติที่ 5 : สิ่งแวดล้อมดี

พัฒนาและแก้ไขสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครให้น่าอยู่

  • เพิ่มพื้นที่สีเขียว และสนามกีฬาในกรุงเทพมหานคร
  • ปลูกต้นไม้ล้านต้นทั่วกรุงเทพฯ
  • ตรวจจับรถปล่อยควันดำก่อนเข้าเขตกรุงเทพมหานคร
  • ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ป้องกันการสูญหาย และการปล่อยปละละเลย
  • มีการวางระบบจัดการขยะอย่างเหมาะสม

มิติที่ 6 : โครงสร้างดี

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร รองรับการขยายตัวของเมือง

  • วางแผนการพัฒนาต้นแบบเมืองใหม่ที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ชานเมือง
  • สร้างฐานข้อมูลที่ดินว่างเปล่า เพื่อพัฒนาให้เป็นประโยชน์
  • เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย
  • ลอกท่อและคูคลอง ติดตั้งระบบระบายน้ำประสิทธิภาพสูง เพื่อลดความเสี่ยงน้ำท่วม
  • ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นแหล่งกำเนิดตามชุมชนริมคลองต่าง ๆ

มิติที่ 7 : บริหารจัดการดี

พัฒนาระบบบริหารการจัดการที่ดีอำนวยความสะดวกให้ประชาชน

  • พัฒนาระบบการจัดการขออนุญาตต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและติดตามผลได้
  • ทบทวนและอัปเดตข้อบัญญัติของกรุงเทพฯ ให้เป็นปัจจุบัน
  • ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพฯ
  • เปิดให้ประชาชนสามารถประเมินการทำงานของผู้อำนวยการเขต และผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ได้

มิติที่ 8 : เรียนดี

พัฒนาสถานศึกษาและสวัสดิการให้กับบุคลากรทางการศึกษา

  • เปิดโรงเรียนในวันหยุด ให้เป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้ สำหรับนักเรียนและชุมชน
  • พัฒนาคุณภาพชีวิตครูในกรุงเทพฯ โดยการเพิ่มสวัสดิการและลดภาระงาน สร้างคุณภาพในการสอน
  • พัฒนาโรงเรียน 3 ภาษา สอนผ่านหลักสูตรไทย ต่างประเทศ และเทคโนโลยีเพื่อการทำงาน
  • เพิ่มศูนย์ดูแลเด็กเล็กในชุมชนและแหล่งที่มีคนทำงานอยู่เยอะ
  • เพิ่มหลักสูตรการฝึกอาชีพให้กับธุรกิจและการขายออนไลน์

มิติที่ 9 : เศรษฐกิจดี

นโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร

  • จัดเทศกาลกระตุ้นเศรษฐกิจ 12 เดือน 12 เทศกาล
  • ชูอัตลักษณ์ย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ กระตุ้นการท่องเที่ยว
  • ยกระดับแผงลอยให้เข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยี
  • ขยายโอกาส ขยายช่องทาง ให้กับสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB: Made in Bangkok) กระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ผลักดัน Hi-Tech และ Hi-Touch
    • อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (Hi-tech) เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ e-sport อุตสาหกรรมการซื้อขายออนไลน์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

    • อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกายภาพ (Hi-touch) เช่น สปา-นวดแผนไทย อาหาร สตรีทฟู้ด ช้อปปิ้งซื้อ-ขายสินค้า (shopping destination) ตลอดจนการแสดง ศิลปวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

 

          สามารถศึกษานโยบายเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chadchart.com/policy

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo