เจาะประเด็น 5 เทรนด์ยุคใหม่แห่งการทำงาน 2022

            ช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างในสังคมของโลกเราในปัจจุบัน ทำให้หลาย ๆ อย่างต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อรับมือกับมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมารองรับ ตลอดจนผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด ส่งผลต่อโลกของการทำงานเช่นกัน โรคโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของหลาย ๆ องค์กรให้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งมีรูปแบบการทำงานแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ภายใต้ความปลอดภัย และจะทำอย่างไรให้งานเดินต่อไปได้ เช่น การทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือแม้กระทั่งการประชุมออนไลน์ (Online Meeting) ที่แพร่หลายมากขึ้น จากเดิมขอบเขตการทำงานแบบออนไลน์จำกัดอยู่แต่เฉพาะบริษัทข้ามชาติที่ต้องติดต่อกันระหว่างสาขาทั่วโลกเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็ก่อให้เกิดเทรนด์ใหม่ของการทำงานในยุคปี 2022 ขึ้น ดังนั้น ในวันนี้ไหนดีเลยขอพามารู้จัก เจาะประเด็น 5 เทรนด์ยุคใหม่แห่งการทำงาน 2022

เทรนด์ยุคใหม่แห่งการทำงาน 2022

  1. การทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Workplace) เมื่อการใกล้ชิดกัน คือ ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิด-19 การทำงานจึงจำเป็นต้องห่างกัน ดังนั้น เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ลดลง รูปแบบการทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home) ได้พัฒนามาเป็นการทำงานแบบผสมผสาน ซึ่งการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Workplace) จะเป็นการทำงานแบบอยู่ที่บ้านหรือมาออฟฟิศก็ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น แต่องค์กรจะต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้พนักงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เช่น ระบบ Online Meeting, ระบบ Cloud Data แชร์ไฟล์ระหว่างกัน เป็นต้น
  2. ระบบการดูแลพนักงานที่ออกแบบเองได้ (Custom Personalization) เมื่อความต้องการของคนมีหลากหลาย ตลอดจนรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป การดูแลพนักงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR : Human Resources) ก็ต้องปรับปรุงตามไปด้วย โดยจะต้องมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการของพนักงาน และออกแบบการพัฒนาพนักงาน หรือจัดสวัสดิการให้เหมาะสม บางองค์กรอาจจัดแพ็กเกจให้พนักงาน สามารถเลือกสวัสดิการเองได้ ทั้งนี้เพื่อความยืดหยุ่น และตอบสนองความต้องการของพนักงานที่หลากหลาย เช่น สวัสดิการเบิกค่านมบุตร แต่หากเป็นพนักงานที่โสด ก็ไม่สามารถใช้สวัสดิการนี้ได้ ดังนั้นจึงมีตัวเลือก เช่น สามารถเบิกค่านวดไทยหรือทำสปา เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของพนักงานภายในองค์กรได้อย่างทั่วถึง
  3. สวัสดิการที่เปลี่ยนแปลงไป (Non-Office Welfare) แต่เดิมหลาย ๆ องค์กรอาจมีการจัดรูปแบบสวัสดิการเอาไว้ในที่ทำงาน เช่น มุมกาแฟ, โรงอาหารกลางวัน, มุมอ่านหนังสือ เป็นต้น แต่ในเมื่อคนส่วนใหญ่ปรับตัวมาทำงานในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid Workplace) ตามข้อ 1 สวัสดิการแบบเดิม ๆ ก็อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ดังนั้น องค์กรต้องปรับรูปแบบสวัสดิการให้เหมาะสม สร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงาน เพื่อรักษาพนักงานและสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน เช่น เงินช่วยเหลือค่าชา กาแฟต่อเดือน, Pocket Wifi, ส่วนลดการสมัครสมาชิกฟิตเนส เป็นต้น
  4. มองพนักงานเป็นเพื่อน เป็นทรัพยากร ไม่ใช่ลูกจ้าง (Employee are resources) เมื่อก่อนองค์กรอาจมองว่าพนักงานเป็นแค่ลูกจ้างที่มาทำงานรับเงินเดือน นายจ้างก็ได้จ่ายค่าจ้างเป็นค่าตอบแทนไปแล้ว เป็นอันจบกัน ไม่ต้องดูแลอะไรเพิ่มเติม แต่สถานการณ์โควิด-19 ได้เข้ามาทำให้การทำงานขององค์กรเป็นไปอย่างยากลำบาก ตัวพนักงานเองที่ได้ต่อสู้ไปกับองค์กร เพื่อฟันฝ่าสถานการณ์ความยากลำบากไปด้วยกัน ทั้งการทำงานหนัก การรับความเสี่ยงจากการติดโรคโควิด-19 ดังนั้น องค์กรควรมองพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่า เป็นเพื่อนที่ร่วมฟันฝ่าไปสู่เป้าหมายไปด้วยกัน การที่เสียคนเก่ง ๆ ไปในสถานการณ์แบบนี้ การจะหาคนใหม่มาทดแทนนั้น ยากยิ่งกว่าการรักษาคนเสียอีก
  5. การปรับปรุงทักษะการทำงานอยู่เสมอ (Dynamic Skills and Competency) การที่สถานการณ์ทางธุรกิจขององค์กรเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทั้งสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ และความต้องการของลูกค้า จากเดิมที่องค์กรมุ่งเน้นพัฒนาทักษะพนักงานตามตำแหน่งงานในรูปแบบตายตัว แต่การพัฒนาดังกล่าวไม่สามารถพัฒนาพนักงานให้มีทักษะสอดรับกับเป้าหมายองค์กร และความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น การพัฒนาทักษะของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมาวิเคราะห์แต่ละตำแหน่งงาน ณ ตอนนั้น ๆ ว่าต้องการทักษะใด และความต้องการของลูกค้าที่ตำแหน่งงานนั้นเกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง เพื่อออกแบบการพัฒนาทักษะของพนักงานให้เหมาะสม

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo