7 วิธีเลือกซื้อบ้านมือสองให้ได้คุณภาพ ราคาถูกใจ งบไม่บานปลาย

            สำหรับผู้ที่อยากมีบ้าน “บ้านมือสอง” ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวเลือกหนึ่งของที่พักอาศัยที่น่าสนใจของคนในยุคนี้ หากแต่ต้องมีการตัดสินใจหรือมีข้อพิจารณา เพื่อไม่ให้โดนหลอก ราคาถูกใจ งบไม่บานปลาย ไหนดี จึงมีข้อแนะนำ 7 ข้อ เพื่อใช้ในการตรวจสอบก่อนตัดสินใจเป็นเจ้าของบ้านมือสอง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง ไปดูรายละเอียดกันได้เลย 

7 วิธีเลือกซื้อบ้านมือสองให้ได้คุณภาพ ราคาถูกใจ งบไม่บานปลาย

1. สำรวจหรือเปรียบเทียบทำเลที่ตั้งกับราคาประเมินที่ดิน

          ผู้ซื้อควรสำรวจราคาขายบ้านในทำเลพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถเปรียบเทียบราคาที่เหมาะสม ไม่ให้แพงเกินความจำเป็น รวมทั้งเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยบ้านของแต่ละธนาคารก่อนตัดสินใจกู้เงินกับธนาคารนั้น ๆ

2. หาเหตุผลที่แท้จริงในการขายบ้านมือสอง

           ผู้ซื้อควรสอบถามหาสาเหตุในการประกาศขายบ้านของเจ้าของเดิม เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากบางสาเหตุอาจส่งผลกระทบในอนาคตได้

3. เข้าไปตรวจสภาพบ้านมือสองหลังจริงให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ

ผู้ซื้อควรตรวจสอบ ดังนี้

  • พื้นที่รอบตัวบ้าน
  • โครงสร้างบ้าน
  • ปัญหาการแตกร้าวที่เสา
  • คานและรั้ว

          โดยควรตรวจสอบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินความเสียหาย รวมถึงค่าใช้จ่ายกรณีต้องแก้ไขหรือซ่อมแซม หรือสามารถนำปัญหาดังกล่าวไปต่อรองราคากับเจ้าของได้ด้วย

4. ตรวจสอบกรรมสิทธิ์ของบ้านมือสองให้ละเอียด

          การตรวจสอบโฉนด เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อไม่ควรละเลย เนื่องจากทำให้ทราบถึงรายละเอียดของเจ้าของกรรมสิทธิ์ แล้วยังช่วยให้ทราบถึงราคาซื้อขาย ซึ่งสามารถนำมาอ้างอิงเพื่อตกลงหรือต่อรองราคากับผู้ขายได้

ข้อควรรู้ ! ในกรณีที่ราคาขายอาจจะสูงกว่าราคาประเมินมากเกินไป ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือกรรมสิทธิ์ โฉนดที่ดิน เพื่อป้องกันการแอบอ้างขายบ้านมือสองจากผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของบ้านตัวจริง หรือหากพบว่าจำเป็นต้องมีการตกลงซื้อขายกับผู้อื่น จะต้องให้ผู้ขายนั้นแสดงหลักฐานการมอบอำนาจที่น่าเชื่อถือก่อน

5. ขอเอกสาร “ใบปลอดหนี้”

            “ใบปลอดหนี้” คือ เอกสารที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระเงินค่าส่วนกลางในการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งถ้าขาดเอกสารตัวนี้จะไม่สามารถทำธุรกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินได้ หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้นั่นเอง ซึ่งผู้ซื้อต้องตรวจสอบให้ดีว่า เจ้าของเดิมไม่ค้างจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนกลาง หรือมีหนี้ค้างอื่นๆ กับทางนิติบุคคล

6. ตกลงราคาและรายละเอียดสัญญา

การซื้อขายบ้านมือสองที่มักจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการซื้อบ้านมือหนึ่ง เช่น

  • ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
  • ค่าธรรมเนียมการโอน
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรืออากรแสตมป์

          ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้รวม ๆ กันแล้ว ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูง หากผู้ซื้อและผู้ขายไม่มีการตกลงกันอย่างชัดเจนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ ซึ่งทำให้เกิดข้อขัดแย้งในภายหลัง ดังนั้น ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจและตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ชัดเจน ว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง โดยทำเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรระบุในหนังสือสัญญาซื้อขายตั้งแต่ตอนแรก เช่น ราคาตกลงซื้อขาย, ค่ามัดจำ, ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์, ค่าจดจำนอง เป็นต้น

7. ซื้อผ่านตัวแทน/เอเจนต์ 

          หากผู้ซื้อไม่มีประสบการณ์ในการซื้อบ้านมือสองมาก่อน การใช้บริการนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่ง ที่สามารถสรรหาบ้านที่ตรงความต้องการของผู้ซื้อ ไม่ว่าจะในเรื่องทำเลที่ตั้ง, ราคา รวมถึงยังสามารถให้คำแนะนำ และอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่าง ๆ ได้ ทำให้ผู้ซื้อสะดวกและประหยัดเวลาไปได้ไม่น้อย รวมไปถึงการที่ตัวแทนนายหน้าเหล่านี้มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญมากกว่าผู้ซื้อหน้าใหม่อีกด้วย

 



Reference:

  • DDproperty.  (2566).  6 ข้อควรรู้ก่อนซื้อบ้านมือสอง ไม่ให้โดนหลอก.  สืบค้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566, จาก https://bit.ly/3pLMdCW
  • บาเนีย.  (2564). 10 เทคนิคการเลือกซื้อบ้านมือสอง อย่างไรให้โดนใจ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566, จาก https://bit.ly/3pM17cn
  • ไทยรัฐออนไลน์.  (2566).  6 วิธีเลือกซื้อ “บ้านมือสอง” ยังไงไม่ให้โดนหลอก.  สืบค้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566, จาก https://bit.ly/42JvtdS

ไหนดี
Logo