บางครั้งเราจะได้ยินข่าวเศรษฐกิจ ที่พูดถึงเรื่องค่าเงินที่แข็งตัวขึ้นหรืออ่อนค่าลง แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ส่งผลกระทบต่อเราหรือผู้ประกอบการอย่างไร วันนี้ ไหนดี ขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับตลาดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกัน
“การแลกเปลี่ยนเงินตรา” คืออะไร ?
ปัจจุบันนั้นการค้าขายทั้งสินค้าและบริการไม่ได้จำกัดอยู่ในแต่ละประเทศเพียงอย่างเดียว เรามีการค้าขายกับชาติอื่นหลายประเทศ เมื่อมีการค้าขายเกิดขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องมีการชำระค่าบริการหรือสินค้าในรูปของเงินตรา และด้วยความที่แต่ละประเทศใช้สกุลเงินที่แตกต่างกัน ทำให้เราต้องแลกเงินสกุลหนึ่งไปเป็นอีกสกุลหนึ่งโดยเทียบมูลค่าของเงินทั้งสองสกุล หรือเรียกว่า “อัตราแลกเปลี่ยน “
ตัวอย่างเช่น
- 1 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถแลกเป็นเงินบาทไทยได้ 34.62 บาทไทย
- 1 ยูโร มีค่าเท่ากับ 39.94 บาทไทย
ซึ่งอัตราการแลกเปลี่ยนจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาด
“ค่าเงินแข็งขึ้น” หรือ “ค่าเงินอ่อนลง” คืออะไร ?
หากเราต้องการแลกเงินบาทเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง (สกุลเงินประเทศอังกฤษ) ในวันนี้ คือ 45.32 บาท จะได้ 1 ปอนด์ฯ แต่สมมุติว่าพรุ่งนี้เราแลกโดยใช้แค่ 44.22 บาท เท่านั้น เราจะสังเกตได้ว่าเราใช้จำนวนเงินบาทน้อยลง ในการแลก 1 ปอนด์ฯ ศัพท์ทางการเงิน เราจะเรียกว่าเงินบาท “แข็งค่าขึ้น”
ในทางกลับกัน ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนมาอยู่ที่ 46 บาท ต่อ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง คือเราต้องใช้เงินบาทมากขึ้นเพื่อแลกเงิน 1 ปอนด์ฯ ก็คือ เงินบาท “อ่อนค่าลง” ในภาษาทางการเงิน
“ค่าเงินแข็งขึ้น” หรือ “ค่าเงินอ่อนลง” ส่งผลกับใคร ?
ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราแลกเปลี่ยน ก็คือคนที่ต้องติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศ เช่น ผู้นำเข้า, ผู้ส่งออก ฯลฯ
- สำหรับผู้นำเข้า สมมติว่า เราซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศเรือนละ 1,000 ดอลลาร์ ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 33 บาท ไป 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เราจะจ่ายเงินซื้อนาฬิกาเพียง 32,000 บาท จากเดิม 33,000 บาท เห็นได้ว่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าได้ประโยชน์ เพราะจ่ายเงินน้อยลงนั่นเอง
- สำหรับผู้ส่งออก ในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นคนขายนาฬิกาไปต่างประเทศ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น เรารับเงินมา 1,000 ดอลลาร์ แต่เมื่อไปแลกเป็นเงินบาทตอนนี้เราจะได้เงินเพียง 32,000 บาท แทนที่จะได้ 33,000 บาท กรณีนี้ คนขายกระเป๋าในฐานะผู้ส่งออกจะเสียเปรียบ
อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับอะไร ?
- ภาวะเศรษฐกิจโลก
- การคาดการณ์และการเก็งกำไร
- ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศ
- นโยบายการเงินและการคลัง
- เสถียรภาพทางการเงินในประเทศ/ต่างประเทศ
- ปัจจัยทางเทคนิค
- จิตวิทยาตลาดและข่าวลือต่าง ๆ
แลกเงินต่างประเทศที่ไหนได้บ้าง ?
โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแลกเงินตราต่างประเทศได้กับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐที่ให้บริการ แต่ก็อาจจะมีค่าธรรมเนียมและอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มได้ ซึ่งร้านแลกเงินที่ให้เรทดี มีดังนี้
- SuperRich Thailand สีเขียว เพิ่มเติม www.superrichthailand.com
- SuperRich SPR สีส้ม เพิ่มเติม www.superrich1965.com
- OH! RiCH เพิ่มเติม www.srtforex.com
- Twelve Victory Exchange เพิ่มเติม ww.twelvevictory.com
- X ONE Currency Exchange Center เพิ่มเติม www.x-one.co.th
- Vasu Exchange เพิ่มเติม www.vasuexchange.com
- K79 Exchange มีทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่
- สาขาอ่อนนุช https://www.k79exchange.com/
- อินทรา https://www.k81exchange.com/ และ
- หาดใหญ่ จ.สงขลา http://kin-exchange.com/
- Value Plus Currency Exchange เพิ่มเติม www.valueplusexchange.com
- Siam Exchange เพิ่มเติม www.siamexchange.co.th
- SIA Money Exchange เพิ่มเติม www.sia-moneyexchange.com
นอกจากนี้สำหรับสายเที่ยวต่างประเทศก็ยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยให้การแลกเปลี่ยนเงินตราง่ายขึ้นด้วย นั่นก็คือ “Travel Card” เช่น
-
- Krungthai Travel Card – ธนาคารกรุงไทย
-
- Krungsri Boarding Card – ธนาคารกรุงศรี
-
- PLANET SCB Card – ธนาคารไทยพาณิชย์
-
- บัตร YouTrip – ธนาคารกสิกรไทย
-
- TTB All Free – ธนาคารทหารไทยธนชาต
Reference:
- ลงทุนแมน. (2560). สรุปเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยน แบบเข้าใจง่ายๆ. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://shorturl.at/auPT8
- ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2566). มาทำความรู้จักกับคำว่า “อัตราแลกเปลี่ยน”กัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://shorturl.at/gxD05
- หญิงเถื่อน. (2566). ส่อง 6 บัตร Travel Card 2022 – 2023 ใช้ต่างประเทศใบไหนคุ้มสุด. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://shorturl.at/bTY27
- mushroomtravel. (2566). อัปเดต 10 ร้าน แลกเงินต่างประเทศ ให้เรทดีที่สุดในไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://shorturl.at/cs359