เมื่อตกงานไม่ว่าะจากการลาออก หรือถูกเลิกจ้างก็สามารถรายงานตัวว่างงานเพื่อรับเงินชดเชยประกันสังคมในกรณีตกงานได้ ซึ่งก็ช่วยให้ถึงจะตกงาน แต่ก็ยังมีเงินใช้ในช่วงที่ขาดรายได้ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย เกิดเป็นคำถามว่าสามารถรายงานตัวว่างงานได้กี่ครั้งเพื่อเรับงินชดเชยประกันสังคม ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีด้วย มาดูกันครับ (อัพเดท 2564)
รายงานตัวว่างงานได้กี่ครั้ง กรณีลาออก
เริ่มด้วยการว่างงานจากกรณีลาออก ซึ่งเมื่อถามว่าจะรายงานตัวว่างงานได้กี่ครั้งนั้น เมื่อศึกษาข้อมูลแล้ว เราก็ไม่พบว่ามีการกำหนดว่าจะรายงานตัวว่างงานไว้ แต่ว่ามีการกำหนดเป็นจำนวนสิทธิรายวันที่จะสามารถเบิกเงินชดเชยประกันสังคม กรณีลาออกได้แทน
โดยการรายงานตัวว่างงาน กรณีลาออก จะสามารถรับสิทธิ์ได้รวมสูงสุดที่ 90 วันต่อปีปฎิทิน ซึ่งนั้นหมายความว่าหากเราลาออกแล้วได้งานใหม่ก่อน 90 วัน จะทำให้เรามีวันที่เหลือไว้รับสิทธิ์รอบต่อไปถ้าเกิดว่าไปทำงานที่ใหม่แล้วเกิดลาออกขึ้นมาอีกรอบได้
ตัวอย่างเช่นเป็นผู้ประกันตนที่ทำงานที่บริษัท A แล้วลาออก จากนั้นได้งานที่บริษัท B หลังจากลาออกมา 60 วัน ถ้าลาออกจากบริษัท B ในปีปฎิทินเดียวกันนั้น จะสามารถขอเงินชดเชยที่เหลืออีก 30 วันได้
โดยหลังจากโควิดระบาดได้มีการปรับเพิ่มสิทธิรับเงินทดแทนว่างงานจากกรณีลาออก เป็น 45% ของค่าจ้าง (เดิมร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ปรับเพิ่มสิทธิ์มีผล 2 ปี)
รายงานตัวว่างงานได้กี่ครั้ง กรณีถูกเลิกจ้าง
ในขณะที่หากผู้ประกันตน มาตรา 33 ถูกเลิกจ้าง ก็จะสามารถเบิกเงินว่างงานได้เช่นกัน และเมื่อถามว่ารายงานตัวว่างงานเมื่อถูกเลิกจ้างได้กี่ครั้งนั้น กฎหมายได้กำหนดไว้ให้สามารถรับสิทธิ์ว่างงานได้สูงสุดรวมกันไม่เกิน 200 วัน
โดยจะได้รับเงิน 70% ของค่าจ้าง จากการว่างงานเพราะถูกเลิกจ้าง สูงสุดครั้งละไม่เกิน 200 วัน ต่อปีปฎิทิน (สำหรับช่วง 1 มี.ค. 2563-28 ก.พ. 2565 โดยปรับเพิ่มมาจากเดิมที่ 180 วัน)
ส่วนถ้ารายงานตัวว่างงานไปแล้วหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะเพราะลาออกหรือถูกเลิกจ้าง แล้ว ต้องการรายงานตัวว่างงานอีกจะรายงานตัวว่างงานได้กี่ครั้งนั้น กฎหมายได้กำหนดว่าจะสามารถรายงานตัวว่างงานทุกครั้งรวมได้ไม่เกิน 200 วันต่อปีปฎิทิน
แต่จำนวนวันจะถูกลดลงเหลือ 90 วันต่อปีปฎิทินทันทีหากมีการรายงานตัวว่างงานจากการลาออกตั้งแต่ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป ดังภาพ
จากภาพตัวอย่างด้านบนจะเห็นว่าถ้าลาออก+เลิกจ้าง จะรายงานตัวว่างงานรับสิทธิ์ได้สูงสุด 200 วัน แต่ถ้าลาออก+ลาออก จะรายงานตัวว่างงานได้สิทธิ์สูงสุด 90 วันเท่านั้น
แต่หากว่าเปลี่ยนใหม่เป็น เลิกจ้าง+ลาออก+เลิกจ้าง จะมีการลาออกไม่เกิน 1 ครั้งต่อปีปฎิทินก็ยังคงใช้สิทธิ์ได้สูงสุด 200 วันอยู่
รายงานตัวว่างงานได้กี่ครั้ง กรณีเหตุสุดวิสัย (โควิด)
เพิ่มเติมสำหรับลูกจ้างที่มีสิทธิประกันสังคม แล้วว่างงานเนื่องจากไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เพราะต้องกักตัวมีสิทธิได้รับเงินว่างงาน 50% ของค่าจ้างรายวัน ในช่วงที่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานหรือนายจ้างหยุดประกอบกิจการ จะมีสิทธิรับเงินว่างงาน สูงสุดไม่เกิน 90 วัน
ซึ่งก็เป็นหนึ่งในมาตราการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จากสำนักงานประกันสังคม โดยสามารถรายงานตัวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้ก็ต่อเมื่อมีหนังสือรับรองจากนายจ้าง
ไปรายงานตัวว่างงาน ที่ไหน กี่วันได้เงิน
ปัจจุบันทางประกันสังคมได้เปิดให้รายงานตัวว่างงานออนไลน์ได้แล้ว (สำหรับกรณีตกงานหรือลาออก) โดยกดรายงานตัวก่อนและหลังวันนัดได้ 7 วัน ที่เว็บ https://empui.doe.go.th/auth/index โดยใช้ชื่อผู้ใช้งาน และรหัสผ่านที่สมัครไว้ในขั้นตอนที่ 1 โดยเมื่อเข้าสู่ระบบไปแล้ว กดคลิกเลือก “รายงานตัว”
ส่วนการลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ พร้อมภาพประกอบดูได้ที่บทความ วิธีลงทะเบียนว่างงานกับประกันสังคมออนไลน์
และเมื่อถามว่ารายงานตัว ว่างงาน กี่วันได้เงิน ก็มีข้อมูลจากผู้ใช้พันทิปพบว่ามักจะได้รับเงินชดเชยว่างงาน โอนเข้าบัญชีประมาณ 5-7 วัน และหากไม่ได้รับลองติดต่อไปที่ประกันสังคม 1506 ดูครับ เช่น บางคนกรอกข้อมูลผิดพลาดในตอนลงทะเบียน, นายจ้างยังไม่แจ้งออก หรือบางคนไม่เข้าคุณสมบัติ
อ้างอิง ประกันสังคม, ประกันสังคม, ราชกิจจานุเบกษา, ราชกิจจา (โควิด), กฎกระทรวง, pantip @38772029, Vector by macrovector,freepik ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น และตีความจากแหล่งอ้างอิง ดังนั้นโปรดตรวจสอบกับสำนักงานโดยตรงอีกครั้ง