บัตรประชาชนหายทำใหม่ง่าย ๆ ไม่ต้องกังวล ทำไงมาดูกัน
บัตรประชาชน หลักฐานชิ้นสำคัญในการแสดงตัวตน ซึ่งใช้ในแทบทุก ๆ การทำธุรกรรมอย่างการเปิดบัญชี การขอสินเชื่อ หรือสมัครใช้สิทธิต่าง ๆ และเป็นเรื่องปกติที่หลายท่านอาจจะโชคไม่ดีทำบัตรประชาชนหาย ทำให้เกิดเป็นคำถามว่าเมื่อทำบัตรประชาชนหาย ต้องแจ้งความไหม แล้วถ้าทำบัตรประชาชนหาย ทำใหม่ที่ไหน เอกสาร และค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ มาดูกันครับ (อัพเดท เม.ย. 2565)
สรุปสั้น ๆ
- ทำบัตรประชาชนหาย ไม่ต้องแจ้งความ
- ทำบัตรใหม่ที่สำนักงานเขต / อำเภอ / เทศบาล ภายใน 60 วัน (ถ้าเกินปรับเพิ่ม 100 บาท)
- เตรียมสำเนาทำเบียนบ้าน และเอกสารราชการที่ยืนยันตัวตน
- ค่าธรรมเนียม 20 บาท
- กรณีบัตรประชาชนหาย ทำบัตรใหม่ที่จุดทำบัตรบนจุดบริการที่ BTS ไม่ได้
ต้องแจ้งความไหม
เราอาจคุ้นชินการต้องแจ้งความในกรณีเอกสารอื่น ๆ หาย แต่สำหรับการทำบัตรประชาชนหายนั้น ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความ เนื่องจากเมื่อติดต่อทำบัตรใหม่ เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกแจ้งบัตรประชาชนหายในเอกสาร บป.7 ให้ ทั้งนี้ควรแจ้งขอเก็บใบ บป.7 นี้ไว้เป็นหลักฐาน
ทำใหม่ที่ไหน
เนื่องจากว่าในยุคสมัยนี้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้ถูกเชื่อมโยงเข้าหากันหมดในแต่ละสำนักงาน ทำให้สามารถทำบัตรประชาชนใหม่ได้ที่ทุกสำนักทะเบียน ทั่วประเทศ
- สำนักงานเขต
- ที่ว่าการอำเภอ / เทศบาล
- ไม่จำเป็นต้องกลับไปยังภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน
- ทำบัตรภายใน 60 วัน นับจากวันที่หายหรือถูกทำลาย (ถ้าเกินเสียค่าปรับเพิ่ม 100 บาท)
ส่วนการออกบัตรใหม่ กรณีบัตรประชาชนหายที่ จุดบริการที่ BTS หรือห้างตามจุด BMA Express Service นั้น จะทำไม่ได้ ต้องออกบัตรใหม่ที่สำนักงานเขต/อำเภอ เท่านั้น
- BTS สยาม (หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน)
- BTS หมอชิต
- BTS พร้อมพงษ์
- BTS อุดมสุข
- BTS วงเวียนใหญ่
- ทั้ง 6 สถานีมี BMA Express Service สำหรับทำบัตรประชาชนใหม่ ยกเว้นกรณีบัตรหาย
บัตรประชาชนหาย ใช้อะไรบ้าง
- เอกสารที่มีรูปถ่ายที่ราชการออกให้ เช่น ใบขับขี่, พาสปอร์ต, สำเนาทะเบียนนักเรียน เพื่อใช้ยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชน
- เงินค่าธรรมเนียมทำบัตรใหม่ 20 บาท
- หากไปเกิน 60 วันหลังบัตรหายจะมีค่าปรับ 100 บาท
- ถ้าไม่มีเอกสารในข้อ 1 ให้นำเจ้าบ้าน หรือผู้ที่น่าเชื่อถือ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปทำการรับรองด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมการปกครองได้ประกาศว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระของประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนและ “บัตรประจำตัวประชาชน” จะมีการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียม ตั้งแต่ วันนี้ จนถึง 30 มิ.ย 2565
อย่าลืมเก็บใบ บป.7 ไว้เป็นหลักฐาน หลังแจ้งทำบัตรประชาชนใหม่
อย่างที่แจ้งไปในหัวข้อก่อนหน้าว่า เมื่อเจ้าหน้าที่รับแจ้งบัตรหายหรือถูกทำลาย จะมีการทำใบ บ.ป.7 ซึ่งเป็นเอกสารบันทึกการรับแจ้งเอกสารเกี่ยวกับบัตรประจําตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทําลาย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการจัดทำบัตรประชาชนใหม่
ดังนั้นเราสามารถนำใบ บป.7 ที่เจ้าหน้าที่ให้นี้เก็บไว้เป็นหลักฐานได้ว่าบัตรประชาชนเราได้หายไปและมีการทำใบใหม่แล้ว ซึ่งเมื่อมีการทำธุรกรรมด้วยบัตรประชาชนใบเก่าที่หายไป เราก็จะมีหลักฐานยืนยันเลยว่าเราไม่ได้ใช้บัตรใบเก่านั้นแล้ว
อ้างอิง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2554, กฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ. 2559, ระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำบัตรประชาชน ฉบับ 3 และ ฉบับ 2, สำนักงานเขตวัฒนา, สำนักงานเขตจตุจักร, ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐฯ ใน pantip.com/topic/39638585, pantip.com/topic/39700971, pantip.com/topic/39674614 และ pantip.com/topic/39336376