ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ ลูกหนี้อย่างเราจะรับมืออย่างไร

       

          เมื่อไม่นานมานี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยเพิ่มจาก 1.25% เป็น1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นเหตุให้ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งเดินพาเหรดเพิ่มทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้กัน ทำให้ผู้กู้รายเล็กและรายใหญ่ต้องปรับตัวเตรียมรับมือกับสภาวะที่ดอกเบี้ยขึ้น วันนี้ ไหนดี เลยอยากพาทุกท่านมาทำความเข้าใจกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และวิธีรับมือกับดอกเบี้ยที่แพงขึ้น


ดอกเบี้ยเงินกู้คืออะไร

          ดอกเบี้ยเงินกู้ คือ ผลตอบแทนที่ผู้กู้จ่ายให้กับผู้ให้กู้ (ธนาคาร หรือ สถาบันทางการเงิน) โดยดอกสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) คือดอกเบี้ยที่กำหนดไว้และไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดอายุสัญญาหรือเวลาที่กำหนด เช่น สินเชื่อซื้อรถยนต์ หรือ การผ่อนชำระสินค้า
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) คือดอกเบี้ยที่ขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน โดยอัตราดอกเบี้ยประเภทนี้สามารถแบ่งได้อีก 3 ประเภท คือ MLR, MOR, และ MRR

ทำไมดอกเบี้ยจึงมีการปรับขึ้น-ลง

          อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้จะขึ้นหรือลงนั้นแปรผันตรงกับการขึ้นหรือลงของดอกเบี้ยนโยบาย กล่าวคือหากธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันทางการเงินก็จะใช้การปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นฐานคำนวณการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้เป็นกลยุทธ์ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลต่อผู้กู้อย่างไร

  • ผลกระทบต่อธุรกิจ เมื่อธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ค้า ห้างร้าน หรือบริษัท ที่กู้เงินมาเพื่อดำเนินธุรกิจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น จึงส่งผลให้ต้องชะลอการขยายกิจการ, ขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ และต้องปรับลดต้นทุน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมหดตัว
  • ผลกระทบต่อพนักงานหรือลูกจ้าง เมื่อบริษัทต้องทำการปรับลดต้นทุนในการดำเนินกิจการ หรือ ขายสินค้าได้น้อยลง ก็จะส่งผลต่อค่าตอบแทนของพนักงาน หรืออาจจะถึงขึ้นปลดพนักงานเพื่อเป็นการลดต้นทุน
  • ผลกระทบต่อผู้บริโภค การขึ้นดอกเบี้ยทำให้คนที่ต้องผ่อนบ้าน หรือ ผ่อนคอนโด มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้เหลือเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันน้อยลง จึงจำเป็นต้องรัดเข็มขัด เพราะมิเช่นนั้นอาจจะขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ได้

เราจะมีวิธีรับมือการขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร

          ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนี้ จะส่งผลกับเงินกู้ที่เป็นแบบลอยตัวเท่านั้น ซึ่งก็จะเป็นหนี้บ้านและหนี้ธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ส่วนลูกหนี้ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต หรือสินค้าอื่น ๆ ที่ผ่อนดอกเบี้ยแบบคงที่ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยปกติแล้วการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะทยอยปรับอย่างเป็นลำดับ เพื่อให้ลูกหนี้ได้มีเวลาปรับตัวและมีเวลาให้ทางภาครัฐหรือสถาบันการเงินออกนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ ส่วนทางธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ได้มีการให้ข้อมูลแนะนำเกี่ยวกับการรับมือดอกเบี้ยขาขึ้นคือ

          ลูกหนี้บ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากระยะเวลาในการผ่อนชำระที่นานขึ้น แต่ค่างวดผ่อนชำระรายเดือนยังเท่าเดิม แต่โดยทั่วไป สถาบันการเงิน (เจ้าหนี้) จะมีการเรียกเก็บ “ค่าผ่อนเผื่อรองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิง” ในอัตรา 0.5-1% แต่ถ้าหากดอกเบี้ยสูงกว่าค่าผ่อนเผื่อดังกล่าว ระยะเวลาในการผ่อนก็จะนานขึ้น ซึ่งลูกหนี้บ้านมีวิธีรับมือดังนี้

  • เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แล้วนำเงินไปโปะหนี้ เพื่อให้ปลดหนี้ได้เร็วและประหยัดเงินค่าผ่อนดอกเบี้ย
  • ยื่นเรื่องกับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ เพื่อลดการผ่อนต่องวด
  • รีไฟแนนซ์ไปยังสถาบันการเงินที่เสนอดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ซึ่งเราจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
    ลูกหนี้ธุรกิจ ได้รับผลกระทบจากการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นกับการกู้ที่มีดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งมีวิธีรับมือดังนี้
  • วิเคราะห์และตรวจสอบ รายรับรายจ่ายของกิจการ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มรายได้

หากมีแนวโน้มว่าจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่สามารถบริหารหนี้ได้ ให้รีบปรึกษากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางแก้ไขและปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกัน

 

ค้นหาสินเชื่อดูการเงินทั้งหมด

ไหนดี
Logo