เช็คเงินชราภาพ ประกันสังคม (อายุ 55) 2564 – เงินบำเหน็จ, บำนาญ กี่บาท?

เคยสงสัยไหมว่าเงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปในทุกๆเดือนนั้นมีเข้าไปเป็นเงินประกันสังคมสะสมชราภาพเดือนละเท่าไหร่ แล้วเงินสมทบชราภาพ ประกันสังคมนี้จะสามารถเบิกมาใช้ได้ตอนไหน เบิกก่อนอายุ 55 ได้ไหม สามารถตรวจสอบเงินประกันสังคมชราภาพอย่างไร วันนี้ไหนดีได้หาคำตอบไว้ให้แล้วมาดูกันครับ (อัพเดท 2564)

เช็คเงินบําเหน็จ ประกันสังคม (ชราภาพ) กี่บาท

หลังจากที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในทุกๆเดือน จะมี 3% ของฐานเงินเดือนที่จะถูกหักเข้ามาออมเป็นยอดเงินชราภาพ ซึ่งเมื่อเราเกษียณแล้ว ก็จะมีสิทธิขอรับเงินบำเน็จประกันสังคมได้ หากส่งเงินสมทบมาน้อยกว่า 15 ปี (หากส่งเงินสะสมประกันสังคมมามากกว่านั้น จะได้เป็นเงินบำนาญแทน) ดังนี้

ใครมีสิทธิ์ได้เงินบำเหน็จประกันสังคม

  • เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • ส่งสมทบประกันสังคมมาน้อยกว่า 180 เดือน (น้อยกว่า 15 ปี)

เงินบำเหน็จประกันสังคมได้เท่าไหร่

เมื่ออายุครบ 55 ปีและต้องการรับเงินบำเหน็จประกันสังคม แล้วจะได้เงินบำเหน็จเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคม ดังนี้

  • ถ้าจ่ายประกันสังคมตั้งแต่ 12 เดือน แต่ไม่เกิน 180 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จเป็น ยอดเงินสมทบที่เราส่ง + เงินสมทบนายจ้าง + ผลประโยชน์ตอบแทน ตามยอดเงินชราภาพ
  • ถ้าจ่ายประกันสังคมน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จเป็น ยอดเงินสมทบที่เราส่งเท่านั้น ตามยอดเงินชราภาพ

โดยสามารถเช็คเงินชราภาพ ประกันสังคม (บำเหน็จ) ได้ 3 วิธีคือ

  1. โทรสอบถามสายด่วนประกันสังคม 1506 หรือ
  2. ไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมก็ได้ หรือ
  3. เช็คเงินชราภาพ ประกันสังคม (บำเหน็จ) ออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยเข้าสู่ระบบประกันสังคมออนไลน์ แล้วเลือกการคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ เพื่อเช็คเงินชราภาพประกันสังคม อ่านวิธีอย่างละเอียดที่ -> วิธีเช็คเงินสะสมประกันสังคม รู้ผลทันทีง่ายๆ

จากภาพด้านบนจะเห็นว่าหากกดเช็คเงินบำเน็จชราภาพออนไลน์ จะแสดงเงินสะสมที่เราจ่ายสมทบ, เงินสมทบนายจ้าง และผลประโยชน์ทดแทนให้แยกเป็นรายปีให้เลย โดยถ้าจ่ายสมทบไม่ถึง 12 เดือนก็ให้เช็คเงินชราภาพ ประกันสังคมช่องเงินสะสมที่เราจ่ายอย่างเดียว แต่ถ้าเกิน 12 เดือนแล้ว ก็เช็คเงินชราภาพ ประกันสังคม (บำเหน็จ) ที่ช่องยอดรวมได้เลย

เช็คเงินบํานาญ ประกันสังคม (ชราภาพ) กี่บาท

เช่นเดียวกับเงินบำเหน็จประกันสังคมที่ ในทุกๆเดือน จะมี 3% ของฐานเงินเดือนที่จะถูกหักเข้ามาออมเป็นยอดเงินชราภาพ เมื่อเราเกษียณ (อายุ 55) และส่งเงินสมทบประกันสังคมสะสมแต่ 180 เดือนขึ้นไป ก็จะได้เงินบำนาญประกันสังคม (หากน้อยกว่านั้นจะได้เป็นเงินบำเหน็จแทน) ดังนี้

ใครมีสิทธิ์ได้เงินบำนาญประกันสังคม

  • เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • ส่งสมทบประกันสังคมมาตั้งแต่ 180 เดือน (ตั้งแต่ 15 ปี)

เงินบำนาญประกันสังคมได้เท่าไหร่

เนื่องจากว่าเงินบำนาญประกันสังคมจะได้รับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนที่จ่ายประกันสังคม โดยใช้ฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท และบวกเพิ่มให้อีกปีละ 1.5% ที่เกินมาจาก 15 ปี

ดังนั้นเงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคมจะได้เท่าไหร่นั้น ก็มีวิธีคิดเงินบํานาญ ประกันสังคมคือ

  1. คิดว่าเรามีค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่าไหร่ โดยให้ใช้ค่าจ้างตามจริงสูงสุดได้ที่ 15,000 บาทต่อเดือนเท่านั้นสำหรับมาตรา 33 พนักงานประจำ (ส่วนมาตรา 39 อาชีพอิสระ ใช้ตัวเลขรายได้สูงสุดได้ที่ 4,800 บาท)
  2. หากสมทบ 15 ปีพอดี ก็นำ 20% คูณกับรายได้เฉลี่ยในข้อ 1 ได้เลย ก็จะได้เงินบำนาญต่อเดือน
  3. หากสมทบมากกว่า 15 ปี
    • ให้คิดว่าจ่ายเงินสมทบไปมากกว่า 15 ปีไปกี่ปี (เช่น ส่ง 20 ปี จะได้ว่าส่งมากกว่า 15 ปีไป 5 ปี) แล้วนำมาคูณ 1.5%
    • แล้วเลขที่ได้มาบวกกับ 20%
    • แล้วนำมาคูณเงินเดือนเฉลี่ยที่ได้มาจากข้อ 1
    • ตัวอย่างเช่น ส่ง 20 ปี รายได้มากกว่า 15,000 บาทจะได้บำนาญเดือนละ 4,125 บาท

หรือตรวจสอบตัวอย่างเงินบำนาญ (เงินชราภาพ ประกันสังคม) ได้จากตารางนี้

ปีที่สมทบ มาตรา 33 เงินบำนาญ
(รายได้ 9,000)
เงินบำนาญ
(รายได้ 15,000+)
สมทบ 15 ปี (บำนาญ 20%) 1,800 3,000
สมทบ 20 ปี (บำนาญ 27.5%) 2,475 4,125
สมทบ 25 ปี (บำนาญ 35%) 3,150 5,250
สมทบ 30 ปี (บำนาญ 42.5%) 3,825 6,375

ดังนั้นสูตรคำนวณ คือ [ 20% + [1.5% x (จำนวนปีจ่ายเงินสมทบ – 15 ปี)] ] คูณรายได้ (เฉลี่ย 60 เดือน) ที่ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อลองคำนวณบำนาญที่เพิ่มขึ้นต่อปีที่จ่ายเงินสมทบก็จะพบว่าในทุกๆ ปีที่ส่งเงินประกันสังคม ทำให้ได้รับเงินบำนาญเพิ่มเดือนละ 225 บาท

แล้วขอรับเงินบำนาญชราภาพก่อนอายุ 55 ได้ไหม

ไม่ได้ครับ โดยเงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคมจะได้ก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปี และลาออกจากงานและประกันสังคมเท่านั้น ตามคุณสมบัติที่ระบุไว้ด้านบนครับ

คำนวณเงินบํานาญ ประกันสังคม มาตรา 39 ยังไง

เงินบํานาญ ประกันสังคม มาตรา 39 อาชีพอิสระ จะใช้หลักการเดียวกันในการคำนวณของผู้มีรายได้ประจำเลย เพียงแต่ว่ารายได้เฉลี่ยสูงสุดจะอยู่ที่ 4,800 บาท (ดังนั้นถ้าลาออกงานประจำแล้วส่งมาตรา 39 ต่อจะทำให้ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนลดลงไปเรื่อยๆ)

ปีที่สมทบ มาตรา 39 เงินบำนาญ
(รายได้ 4,800)
สมทบ 15 ปี (บำนาญ 20%) 960
สมทบ 20 ปี (บำนาญ 27.5%) 1,320
สมทบ 25 ปี (บำนาญ 35%) 1,680
สมทบ 30 ปี (บำนาญ 42.5%) 2,040

ซึ่งสูตรคำนวณ ก็คือ [ 20% + [1.5% x (จำนวนปีจ่ายเงินสมทบ – 15 ปี)] ] คูณรายได้ (เฉลี่ย 60 เดือน) ที่ไม่เกิน 4,800 บาท

อ้างอิง ประกันสังคม, ประกันสังคม, ราชกิจจานุเบกษา, Vector by cornecoba,freepik, ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นโปรดสอบกับสำนักงานอีกครั้ง

ไหนดี Champ

แชมป์ (Champ) ผู้ที่อยู่ในวงการการเงิน และเศรษฐศาสตร์ มีความชอบในการเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผองเพื่อนและคนรู้จัก เกิดมาเป็นการนำมาเผยแพร่ทางเลือกดีๆในสาธารณะ จบการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ปัจจุบันร่วมเป็นหนึ่งในนักเขียนประจำเว็บไซต์ไหนดี

ไหนดี
Logo