ในปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบหลัก ๆ มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศไปจนถึงสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกซบเซาและเติบโตน้อยลงเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์แบบนี้จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากสภาวะเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น การมี “เงินสำรองฉุกเฉิน” ไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น ถือเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้สามารถมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ดังนั้น ไหนดีจึงพามาทำความรู้จัก ว่าเงินสำรองฉุกเฉินคืออะไร ควรมีเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ แล้วต้องเป็นเงินสดอย่างเดียวไหม ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
เงินสำรองฉุกเฉิน คืออะไร?
“เงินสำรองฉุกเฉิน” คือ เงินสำรองที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อมีเหตุจำเป็น โดยเป็นเงินที่เราเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการฝากธนาคาร เก็บไว้ในตู้เซฟที่บ้าน หรือแม้กระทั่งการลงทุนในช่องทางอื่น ๆ ทำให้หากถึงคราวจำเป็นขึ้นมา เราสามารถใช้เงินก้อนนี้ในการใช้จ่ายได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องกังวลไปหาหยิบยืมคนอื่น
เงินสำรองฉุกเฉินควรมีเท่าไหร่?
สำหรับการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินนั้น หลายคนคงมีคำถามในใจ ว่าจะต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ จึงจะเพียงพอ? ซึ่งไหนดีมีข้อแนะนำในการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน โดยยึดหลักการดังต่อไปนี้
- การวางแผนค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อให้รู้ว่าเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ โดยจำแนกเป็นค่าใช้จ่ายประเภทต่าง ๆ เช่น ค่าที่พัก, ค่าน้ำมันรถ, ค่าบัตรเครดิต เป็นต้น
- วางแผนการออมเงิน โดยการออมเงินเพื่อเก็บไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน แนะนำว่าควรสำรองไว้ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อที่หากมีสถานการณ์จำเป็นเกิดขึ้น เราจะสามารถมีสภาพคล่องทางการเงินไปได้อีก 6-12 เดือนนั่นเอง ทำให้ระหว่างนั้นมีระยะเวลาและเงินที่เพียงพอจะหารายได้มาทดแทนให้ทันก่อนที่เงินสำรองของเราจะหมดไป
วางแผนการออม สร้างเงินสำรองฉุกเฉินให้งอกเงย
สำหรับการเก็บออมเงินฉุกเฉิน ทำได้โดยการนำค่าใช้จ่ายรายเดือนที่คำนวณไว้ ไปคูณ 6 หรือคูณ 12 ตามเป้าหมายที่ต้องการ เพียงเท่านี้เราก็จะได้เป้าหมายแล้ว ว่าภายใน 6 เดือนหรือ 12 เดือน เราควรออมให้ได้กี่บาท จึงจะมีเงินสำรองฉุกเฉินเพียงพอต่อการสร้างความปลอดภัยทางการเงินของเรา
เช่น ค่าใช้จ่ายต่อเดือนทั้งหมด คือ 7,500
มีเป้าหมายเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือน
= 7,500 * 6
= 45,000
หมายความว่า เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับ 6 เดือน คือ 45,000 บาทนั่นเอง
เงินสำรองฉุกเฉิน ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินสดอย่างเดียว
สำหรับเงินสำรองฉุกเฉิน หลาย ๆ คนคงอาจจะคิดว่าต้องเก็บสำรองในรูปแบบของเงินสดเท่านั้น แต่ไหนดีขอบอกเลยว่าไม่จำเป็นเสมอไป เพราะหลักพื้นฐานของเงินสำรองฉุกเฉิน มีเพื่อการกระจายความเสี่ยงให้กับเราเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ดังนั้น เราควรกระจายความเสี่ยงให้กับเงินสำรองฉุกเฉินของเราเช่นกัน โดยการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเก็บทองคำแท่ง, การซื้อที่ดิน หรือแม้กระทั่งการทำประกันสุขภาพ, การทำประกันชีวิตให้กับเราเองหรือคนในครอบครัว เป็นต้น ถือเป็นการวางแผนการสำรองเงินฉุกเฉินในอนาคตให้กับตัวเราเองเช่นกัน เพราะหากเราเจ็บป่วย ก็จะได้ไม่ต้องนำเงินสำรองฉุกเฉิน ออกมาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล และหากใครเก็บเงินสำรองฉุกเฉินในรูปแบบเงินสดอย่างเดียว อย่าลืมลองพิจารณาการเปลี่ยนเงินสำรองฉุกเฉิน ให้เป็นการกระจายความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่เราแนะนำกันด้วยนะ เพื่อให้เรามีความมั่นคงทางการเงินที่มีเสถียรภาพและยั่งยืนต่อไป