ทริคลดหย่อนภาษี เลือกแบบไหนให้คุ้มที่สุด

ขึ้นปี พ.ศ. ใหม่ ทุกคนก็ต้องเตรียมยื่นภาษีกัน โดยเฉพาะในวัยทำงาน คนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนคนที่มีรายได้เข้าเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษี ซึ่งในบทความนี้ ไหนดี ได้รวบรวมทริคดี ๆ ในการลดหย่อนภาษีมาฝากกัน เพื่อที่เราจะได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ หรือเก็บออมและไปต่อยอดลงทุนก็ได้เช่นกัน โดยจะมีทริคอะไรบ้างไปดูกัน

ทริคลดหย่อนภาษี เลือกแบบไหนให้คุ้มที่สุด

  1. ไม่เอารายได้ที่ได้รับการยกเว้นเสียภาษีไปรวมกับรายได้พึงประเมิน

หากนำไปรวมกันอาจจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องรู้ว่ามีรายได้ประเภทไหนบ้างที่ได้รับการยกเว้น ซึ่งได้แก่

  • เงินค่าบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ
  • เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • เงินเบี้ยยังชีพผู้พิการ
  • เงินทดแทนจากประกันต่าง ๆ
  • เงินจากการถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากออมสิน
  • เงินที่ได้รับจากบุพพารีตามประเพณีไม่เกิน 20 ล้านบาท
  • เงินที่ได้รับจากบุคคลอื่นตามประเพณีไม่เกิน 10 ล้านบาท
  • กำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
  1. รวมรายการลดหย่อนภาษี

ค่าใช้จ่ายบางประเภทสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งหากมีหลายรายการก็จะช่วยลดหย่อนภาษีไปได้มากทีเดียว ซึ่งมีรายการต่าง ๆ ดังนี้

ค่าลดหย่อนกลุ่มภาระชีวิต

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนบิดามารดา 30,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000-60,000 บาท
  • ค่าฝากครรภ์และทำคลอด ตามที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกินครั้งละ 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ 60,000 บาท

ค่าลดหย่อนกลุ่มนโยบายภาครัฐ

  • เงินบริจาคทั่วไป ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคแบบ 2 เท่า เช่น เงินบริจาคเพื่อโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อการศึกษา หรือเพื่อการกีฬา ซึ่งสามารถลดหย่อนได้ 2 เท่าของตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคพรรคการเมือง ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
  • เงินลงทุนธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ตามที่จ่ายจริง
  1. หาตัวช่วยลดหย่อนภาษี

นอกจากการไม่เอารายได้ที่ได้รับการยกเว้นมารวมกับรายได้ถึงประเมิน และรวมรายการลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีตัวช่วยดี ๆ ที่ช่วยลดหย่อนภาษีให้คุณได้อีก เช่น

  • ทำประกันชีวิต
  • ทำประกันสุขภาพ
  • ซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
  • ซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
  • เข้าร่วมกองทุนของภาครัฐ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน กบข. กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

ซึ่งก่อนจะนำตัวช่วยเหล่านี้มาลดหย่อนภาษี ต้องอย่าลืมเช็กเงื่อนไขดี ๆ เพราะประกันและกองทุนรวมบางประเภทไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น ประกันที่ไม่ได้ทำกับบริษัทในประเทศไทย ประกันที่ระยะเวลาคุ้มครองไม่ถึง 10 ปี ประกันที่ได้รับเงินปันผลไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกัน รวมถึงกองทุนรวมที่ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้แล้ว เช่น กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนส่งเสริมการออม (SSFX) เป็นต้น

ไหนดี
Logo