พ่อแม่เสียชีวิต ลูกต้องใช้หนี้แทนไหม ส่งต่อถึงลูกหรือไม่

เราคงได้ยินคำพูดของพ่อแม่หลาย ๆ คนที่พูดว่าไม่อยากเป็นหนี้เป็นสินมาก เพราะไม่อยากให้หนี้หรือภาระตกไปถึงลูกหลาน ทำให้เกิดการพูดปากต่อปากว่าเมื่อพ่อแม่เป็นหนี้แล้ว หลังจากนั้นเสียชีวิต หนี้ก้อนนั้นจะตกถึงลูกหลาน คือ ลูกหลานจะต้องรับผิดชดใช้หนี้แทน ทำให้ลูกหลานหลายคนเกิดความกังวลว่าตัวเองจะต้องมารับผิดชอบจ่ายหนี้นั้นแทน วันนี้เรามีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องมาบอก

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจแยกเป็นประเด็นกันก่อน คือ

กรณีมีหนี้ มีมรดก

กรณีที่พ่อแม่เป็นหนี้ก่อนเสียชีวิต ต่อจากนั้นได้เสียชีวิตลง ลูกหลานจะต้องรับผิดชอบใช้หนี้ต่อไปเฉพาะในกรณีที่พ่อแม่มีทรัพย์มรดกตกทอดให้เรา เช่น มีบ้าน มีรถ มีที่ดินหรือทรัพย์สินอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นชื่อกรรมสิทธิ์ของพ่อแม่ และทรัพย์สินเหล่านั้นได้ตกทอดมาถึงลูกหลานเมื่อพ่อแม่เสียชีวิต แบบนี้เราถึงต้องเข้าไปรับผิดใช้หนี้ต่อจากพ่อแม่ ในจำนวนที่ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ให้มา ยกตัวอย่างให้เข้าใจกันง่าย ๆ คือ

  • พ่อแม่เป็นหนี้ธนาคารอยู่ 500,000 บาท
  • มีเงินฝากในธนาคารที่ตกทอดมาถึงเรา 300,000 บาท
  • เราก็ต้องใช้หนี้ให้ธนาคารเพียง 300,000 บาท เท่านั้น
  • อีก 200,000 บาท คงค้างนั้น หนี้ก็เป็นอันระงับไปตามกฎหมาย เพราะลูกหลานมี “หน้าที่” รับผิดชอบใช้หนี้ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับมาเท่านั้น

ซึ่งมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ได้บัญญัติไว้ว่าหากมีบุคคลใดตาย ทรัพย์มรดกย่อมตกทอดไปยังทายาทโดยธรรม ซึ่งหมายถึงตกทอดไปถึงลูกหลานทั้งทรัพย์มรดก คือ สิทธิและหน้าที่ ซึ่งหน้าที่ในที่นี้หมายถึง หนี้และหน้าที่ต่าง ๆ ที่ต้องทำ ยกเว้นเป็นหน้าที่ที่เป็นการเฉพาะตัวที่ไม่มีใครสามารถทำแทนได้ เช่น มีคนมาจ้างพ่อเราวาดรูป เพราะพ่อเราเป็นศิลปินที่สามารถวาดรูปได้ ในกรณีนี้หากพ่อเสียชีวิตลง ลูกหลานก็ไม่ต้องวาดรูปต่อ เพราะถึงแม้จะเป็นหน้าที่ของพ่อก็ตาม แต่ตามกฎหมายถือว่าเป็นการเฉพาะตัวที่ไม่สามารถทำแทนกันได้ เป็นการใช้ฝีมือของใครของมัน จึงทดแทนกันไม่ได้นั่นเอง

กรณีมีหนี้ ไม่มีมรดก

อีกกรณีคือ พ่อแม่มีหนี้ที่ก่อไว้ก่อนเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อ หรือหนี้อะไรก็แล้วแต่ เมื่อพ่อแม่เสียชีวิตลงและลูกหลานก็ไม่ได้รับทรัพย์มรดกอะไรของพ่อแม่เลย เพราะพ่อแม่ไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดไปให้ลูกหลาน กรณีอย่างนี้เราก็ไม่ต้องรับผิดใช้หนี้ต่อจากพ่อแม่เลย หนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไปในกรณีที่ลูกหนี้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สรุป

ดังนั้นคำพูดที่ว่าเป็นหนี้แล้ว หนี้จะตกไปถึงลูกหลานเมื่อตัวเองเสียชีวิตนั้น ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ประเด็นตามที่กล่าวไปข้างต้น เพราะในบางครั้งลูกหลานก็ไม่ต้องรับผิดใช้หนี้ต่อไปก็ได้ หากเข้าเงื่อนไขกรณีที่ 2 นั้นเอง

พรพรรณ ญาตินิยม

เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 66 จบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต ปัจจุบันเป็นนิติกร สำนักงานอัยการสูงสุด และเป็นอดีตเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี

ไหนดี
Logo