เทคนิคซื้อของออนไลน์อย่างปลอดภัย “ถูก ง่าย สบายใจ”

เทคนิคซื้อของออนไลน์อย่างปลอดภัย ถูก ง่าย สบายใจ

การจับจ่ายซื้อของในปัจจุบัน นับได้ว่าพัฒนามาดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จากเดิมที่เราต้องเดินทางไปซื้อสินค้าที่ร้านเอง ซึ่งทั้งเสียเวลาเดินทาง, ไม่สามารถเช็ค สต็อกสินค้าได้ว่ามีของหรือไม่ ไหนจะเรื่องการเปรียบเทียบราคา ว่าร้านไหนที่ขายสินค้าที่เราอยากได้ในราคาที่ถูกกว่า หรือมีโปรโมชันดีกว่ากัน โดยในปัจจุบันการซื้อของได้เข้ามาสู่ยุคของการซื้อของออนไลน์ ที่มีผู้ให้บริการมากมายหลากหลายช่องทาง เช่น  Shopee, Lazada, JD Central หรือ Facebook Marketplace เป็นต้น ทำให้การซื้อสินค้าของเราสะดวกสบาย และรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่ความสะดวกนี้ก็ย่อมแลกมาด้วยความเสี่ยงในการโดนโกง หรือถูกหลอกลวงได้ ดังที่เป็นข่าวในหน้าสื่ออยู่บ่อย ๆ มีทั้งการหลอกขายสินค้า โดยให้โอนเงินก่อน แล้วไม่ส่งสินค้าให้ หรือซื้อสินค้าที่มีราคาแพง, มูลค่าสูง แต่ผู้ขายกลับส่งสินค้าปลอม หรือสินค้าราคาถูกมาให้แทน เป็นต้น

ในวันนี้ ไหนดีจึงขอรวบรวมเทคนิค และข้อสังเกตการซื้อของออนไลน์อย่างปลอดภัย “ถูก ง่าย สบายใจ” มาแบ่งปันกัน เพื่อขาช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งหลาย จะได้ไม่พลาดเสียรู้มิจฉาชีพให้เจ็บใจกันอีกต่อไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เทคนิคซื้อของออนไลน์อย่างปลอดภัย รู้ไว้ไม่โดนหลอก

สำหรับการซื้อของออนไลน์ ที่ในยุคนี้แทบจะเป็นเทรนด์หลักในการซื้อสินค้าต่าง ๆ ของคนไทยไปแล้ว ส่วนจะซื้อของออนไลน์อย่างไรไม่โดนหลอกนั้น เราไปดูเทคนิคกันได้เลย

  1. ซื้อของจากช่องทางการขายที่น่าเชื่อถือ ช่องทางในการซื้อของ เป็นอย่างแรกที่เราควรพิจารณา ว่าสามารถเชื่อถือได้แค่ไหน เช่น การซื้อของบน Platform ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทน่าเชื่อถือ อาทิ Shopee, Lazada ก็ย่อมมีกระบวนการบริการหลังการขาย หรือการประกันความเสี่ยงที่ดีกว่าการไปซื้อของจากไหนไม่รู้ เช่น มีคนทักมาขายสินค้าให้กับคุณในไลน์ หรือใน Messenger ของ Facebook เป็นต้น
  2. เลือกร้านที่น่าเชื่อถือ การซื้อของกับร้านที่น่าเชื่อถือ, เปิดมานาน หรือมีการซื้อขายกับลูกค้าอยู่เป็นประจำ ย่อมลดความเสี่ยงกว่าการไปซื้อของกับร้านที่พึ่งเปิด หรือไม่เคยมีประวัติการค้าขายเลยอย่างแน่นอน
  3. ดูรีวิวของร้านประกอบ ในหลาย ๆ Platform การซื้อของออนไลน์จะมีช่องทางให้ลูกค้าที่ได้ซื้อของไปแล้ว ได้ทำการรีวิวสินค้า และการให้บริการของร้านนั้น ๆ ซึ่งเราสามารถอ่านประกอบการตัดสินใจได้ว่ามีคนให้รีวิวสินค้า และการบริการของร้านนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ตรงนี้มีเทคนิค คือ อย่าดูแต่รีวิวที่ให้ 5 – 4 ดาวเพียงอย่างเดียว ให้ลองอ่านรีวิวแย่ ๆ ที่ลูกค้าพบเจอด้วยว่า การที่ลูกค้ารีวิวร้านนี้โดยให้คะแนนเพียงเล็กน้อย เป็นเพราะสาเหตุใดกันแน่
  4. ถูกและดีมีน้อย หรือแทบไม่มีเลย ข้อดีของการซื้อของออนไลน์ คือ เราสามารถเปรียบเทียบราคาได้หลากหลาย แต่การเห็นแก่ราคาถูกของสินค้านั้น ก็อาจจะนำมาซึ่งผลเสียได้ หากเราไม่ได้ไตร่ตรอง หรือพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยดูแค่ของถูกเพียงอย่างเดียว ซึ่งเทคนิค คือ ราคาสินค้าชนิดเดียวกันก็ไม่ควรจะมีราคาต่างกันมากเกินไป เช่น โทรศัพท์มือถือราคาปกติอาจอยู่ที่ 8,000 บาท แต่มีเจ้านึงขายอยู่ที่ 6,500 บาท อันนี้อาจต้องไปพิจารณาข้อ 1 – 3 ประกอบในการเลือกซื้ออีกครั้งว่าเชื่อถือได้แค่ไหน
  5. ตรวจสอบรายชื่อคนโกงก่อนซื้อ บางครั้งการซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างบุคคลด้วยกัน มีความเสี่ยงสูงกว่าการไปซื้อของจากหน้าร้านที่มีหน้าร้านชัดเจน หรือซื้อของจากแบรนด์ผู้ผลิตเอง ซึ่งก็แลกมาด้วยราคาที่อาจจะถูกกว่า หรือเป็นสินค้าที่เราอยากได้ โดยเฉพาะการซื้อของผ่าน Facebook ที่มีคนมาประกาศขายตามเพจ หรือใน Marketplace แต่ตรงนี้ก็มีเทคนิคในการป้องกันเบื้องต้น โดยเราสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อและประวัติคนที่เคยโกง และมีผู้รายงานไว้ได้ที่ https://shorturl.asia/v9LdH
  6. เก็บหลักฐานการโอนเงิน และแชทไว้ให้ครบ โดยหากมีปัญหาทีหลัง เราสามารถใช้หลักฐานเหล่านี้ ในการแจ้งความดำเนินคดี หรือร้องเรียนไปยังผู้ให้บริการ Platform ซื้อขายออนไลน์ได้
  7. ตรวจสอบรายการยอดใช้จ่ายจากบัตรเครดิตเสมอ หากถึงรอบบิลบัตรเครดิต หรือหลังจากซื้อของออนไลน์ไปแล้ว ต้องทำการตรวจสอบว่ายอดบิลที่แจ้งมาถูกต้องหรือไม่ หรือหากใครกังวลเรื่องความเสี่ยงตรงนี้ ในหลาย ๆ Platform ที่ให้บริการซื้อของออนไลน์ ก็มีบริการเก็บเงินปลายทาง ได้รับของแล้วค่อยจ่ายเงินกับผู้ส่งพัสดุได้เลย

หากรู้ตัวว่าโดนโกง อย่าตกใจ ให้ทำตามนี้ ช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้

หากเรารู้ตัว ว่าการซื้อของออนไลน์ของเรามีความผิดปกติ หรือโดนโกงแน่นอนแล้ว เช่น ผู้ขายไม่ส่งสินค้าให้ หรือบล็อกเราไปเลย ทั้ง ๆ ที่โอนเงินแล้ว หรือสินค้าที่ได้รับไม่ใช่สินค้าที่เราสั่งซื้อ อย่าตกใจไป ให้มีสติและรีบดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  1. เก็บหลักฐาน เมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอก สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การเก็บหลักฐานทุกอย่าง เพื่อรีบไปแจ้งความดำเนินคดี ทั้งหลักฐานการโอนเงิน, ข้อความที่คุยกับคนขาย, ข้อความประกาศขายสินค้า, เลขบัญชีธนาคาร พร้อมชื่อ-นามสกุลของผู้ที่เราโอนเงินไปให้ โดยแคปหน้าจอไว้ แล้วปริ๊นท์ออกมาเป็นหลักฐาน
  2. แจ้งความดำเนินคดี หลังจากได้หลักฐานแล้วให้ไปโรงพักใกล้บ้าน หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อแจ้งความ โดยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ประสงค์ให้ดำเนินการอายัดบัญชีผู้ที่เราโอนเงินไปให้ และให้ดำเนินคดี อย่าแจ้งแค่ขอให้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
  3. แจ้งธนาคารเจ้าของบัญชีคนร้ายที่เราโอนเงินไปให้ เพื่อให้ธนาคารทำการอายัดเงินในบัญชีของคนร้าย จะทำให้คนร้ายไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ โดยหลักฐานที่ต้องนำไปมีดังนี้
    • สำเนาหลักฐานใบแจ้งความ
    • คำสั่งอายัดบัญชี
    • หน้าสมุดบัญชี หรือเลขบัญชี พร้อมชื่อ-นามสกุล เจ้าของบัญชีที่เป็นคนร้าย
    • สำเนาบัตรประชาชนของเรา
  4. รอขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย โดยหลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการออกหมายเรียก หรือติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี ให้เราประสานงานไปที่ร้อยเวรเจ้าของคดี เพื่อติดตามความคืบหน้าต่อไป

 

 

 

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo