การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ในการดำรงชีวิตของคนไทยทุกคน เพราะโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อหลายสิ่งหลายอย่างในการดำรงชีวิตของเรา ซึ่งรวมถึงในการทำงานด้วยเช่นกัน หากเราติดโควิด-19 ก็มีความจำเป็นต้องกักตัว หรือหากมีอาการป่วย ก็จำเป็นจะต้องลาป่วย ไปโรงพยาบาลหรือ Hospitel เพื่อรักษาตัว
ดังนั้น ในการเป็นพนักงานประจำ เราจำเป็นที่จะต้องทราบสิทธิในการเป็นลูกจ้าง ว่าหากเราติดโควิด-19 ในฐานะลูกจ้าง มีสิทธิอะไรบ้าง และเรายังสามารถได้รับค่าจ้างหรือไม่ ในกรณีที่เราหยุดงานไป ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
เปิดสิทธิลูกจ้างติดโควิด-19 ต้องกักตัว ลาป่วย ได้ค่าแรงหรือไม่ ?
หากเราติดโควิด-19 มีความจำเป็นต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัวหรือกักตัว เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น หรือแพร่เชื้อในที่ทำงานของเรา ตัวเราเองในฐานะลูกจ้างจะมีสิทธิอะไรบ้าง และในทางกฎหมายแรงงานได้ให้สิทธิของลูกจ้างที่ติดโควิด-19 ไว้อย่างไร ไหนดีขอสรุปให้ ดังนี้
- กรณีมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด โดยเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เช่น มีคนในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันติดโควิด หรือไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงานที่ติดโควิด เป็นต้น ซึ่งนายจ้างได้มีคำสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อกักตัว กรณีนี้ ถือเป็นการหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือเป็นการขาดงานไม่ได้ แต่เมื่อกระทบด้วยกันทั้งสองฝ่าย กระทรวงแรงงาน จึงแนะนำให้ตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ดังนี้
- ตกลงให้ลูกจ้าง หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง Leave without Pay
- ตกลงให้ลูกจ้าง หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ตามหลักสัญญา ต่างตอบแทน No Work No Pay
- ให้ลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วย หรือลาพักร้อนประจำปี ตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ กรณีลูกจ้างมีโอกาสที่จะติดโควิด ทางนายจ้างมีสิทธิสั่งให้ทำการตรวจหาเชื้อได้ แต่จะเลิกจ้างเพราะเหตุผลว่าลูกจ้างติดโควิดไม่ได้ หากนายจ้างเลิกจ้าง จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง
- กรณีป่วยโควิด สำหรับกรณีที่ลูกจ้างติดโควิด โดยมีผลยืนยันทั้งแบบ ATK หรือ RT-PCR ตามกฎหมายแรงงาน ถือว่าลูกจ้างอยู่ในสถานะป่วย สามารถใช้สิทธิลาป่วย หรือใช้สิทธิลาพักร้อนได้
- กรณีนี้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยและลาพักร้อน ลูกจ้างจะยังได้รับค่าจ้าง แต่หากต้องใช้เวลารักษาตัวมากกว่า 14 วัน ก็ถือว่าเป็นการลาป่วยเช่นกัน ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ลาป่วยได้ 30 วัน นายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าจ้าง
- กรณีที่ลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วยครบ 30 วันไปแล้ว รวมทั้งยังใช้ลาหยุดพักผ่อนประจำปีครบแล้วเช่นกัน นายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างได้ แต่จะถือว่าลูกจ้างขาดงานไม่ได้ ดังนั้น หากจะเลิกจ้างด้วยเหตุที่ลูกจ้างป่วย ไม่สามารถมาทำงานให้นายจ้างได้ ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ส่วนลูกจ้างเอง หากลาป่วยเกิน 30 วัน และนายจ้างหยุดจ่ายค่าจ้าง ก็สามารถไปใช้สิทธิขอรับเงินทดแทนกรณีขาดรายได้ที่สำนักงานประกันสังคม ตามสิทธิประกันสังคมที่ลูกจ้างเป็นสมาชิก