สิทธิประกันสังคมคนท้อง หรือสิทธิของคู่สมรสนั้น สามารถใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรประกันสังคม และสิทธิการฝากครรภ์ ประกันสังคม ได้เมื่อเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเบิก โดยในปี 2564 ได้มีการเพิ่มค่าคลอดบุตรให้เบิกได้ 15,000 บาท และฝากครรภ์ ให้เป็น 1,500 บาทแล้ว มาดูกันว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง กี่วันได้เงิน? (อัพเดท 2565)
เบิกค่าคลอดบุตร ประกันสังคม
หนึ่งในสิทธิประกันสังคมคนท้องคือสามารถเบิก ค่าคลอดบุตร ให้เบิกในอัตราเหมาจ่ายที่จำนวน 15,000 บาทต่อครั้ง (จากเดิมให้ 13,000) ในจำนวนนี้จะรวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าทำคลอด, ค่ายา, ค่าห้อง, ค่ารถพยาบาล หรือค่าบริการอื่น ๆ จะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ก็เบิกได้
ต้องคลอดบุตรที่โรงพยาบาลไหน: สามารถใช้สิทธิคลอดบุตรที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ สำรองจ่ายไปก่อนแล้วนำมาเบิกภายหลัง ดังนั้นจะขอค่าคลอดบุตรโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนก็ได้
ใครถึงมีสิทธิเบิกได้: ถ้าส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร โดยจะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้าง) หรือ 39 (ส่งเอง) ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 (อาชีพอิสระ) จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ (ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม)
มีเอกสารเบิกค่าคลอดบุตร ประกันสังคม ดังนี้
- เอกสารแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 (ดาวน์โหลด) กรอกให้ครบถ้วน แล้วเซ็นต์เอกสาร
- สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (ถ้าคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
- สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคาร (ออมทรัพย์) ให้เห็นชื่อ เลขที่บัญชีชัดเจน มี 8 ธนาคารที่ใช้ได้คือ กรุงเทพ, กสิกร, ไทยพาณิชย์, กรุงไทย, กรุงศรีฯ, ทหารไทยธนชาติ, ธ.อิสลามฯ และ CIMB
- หากคุณพ่อเป็นคนเบิก ให้แนบสำเนาทะเบียนสมรสมาด้วย แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส (ดาวน์โหลด) มาแทนได้
หลังจากนั้นส่งเอกสารได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ รวมถึงสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทุกแห่งทั่วประเทศ
กรณีรับเงินด้วยตนเองต้องนำบัตรประชาชนตัวจริงไปแสดงด้วย ในขณะที่รับเงินแบบธนาณัติให้ระบุชื่อสาขาที่จะไปติดต่อรับเงิน กรณีชำระเงินโอน ประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีของผู้ประกันตนภายใน 5-7 วันทำการ จากวันที่เอกสารได้รับอนุมัติ
หรือจัดส่งเอกสารไปทางไปรษณีย์ที่ “ฝ่ายสิทธิประโยชน์” สำนักงานประกันสังคมตามที่อยู่ใกล้บ้าน
นอกจากสิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรที่ได้เหมาจ่าย 15,000 บาทแล้ว คุณแม่จะได้รับสิทธิสงเคราะห์หยุดงาน 3 เดือน โดยคำนวณจาก 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 15,000 บาท ใช้เบิกได้สูงสุด 2 สิทธิเท่านั้น เช่น เงินเดือน 15,000 จะเบิกได้ 7,500 บาท x 3 เดือนเป็นเงินอีก 22,500 บาท
และยังมีสิทธิเบิกสงเคราะห์บุตร เดือนละ 800 บาทต่อลูก 1 คนที่อายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ สูงสุดคราวละไม่เกิน 3 คน (สำหรับผู้ที่จ่ายประกันสังคมมามากกว่า 12 เดือนแล้ว ภายใน 36 เดือน)
สิทธิประกันสังคมฝากครรภ์
สำหรับคุณแม่ที่ยังไม่ได้คลอดบุตร (หรือคลอดบุตรไปแล้วจะยื่นฝากครรภ์พร้อมกับคลอดบุตรก็ได้) สามารถใช้สิทธิเบิกค่าตรวจครรภ์-ฝากครรภ์ได้ด้วย สูงสุดจำนวน 1,500 บาท แบ่งการจ่ายเงินเป็น 5 ครั้ง ดังนี้ (เพิ่มจากเดิม 1,000 บาท ที่จ่าย 3 ครั้ง)
- ฝากครรภ์ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) จ่ายสูงสุด 500 บาท
- ฝากครรภ์ครั้งที่ 2 อายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ (3-5 เดือน) จ่ายสูงสุด 300 บาท
- ฝากครรภ์ครั้งที่ 3 อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายสูงสุด 300 บาท
- ฝากครรภ์ครั้งที่ 4 อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายสูงสุด 200 บาท (ใหม่)
- ฝากครรภ์ครั้งที่ 5 อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายสูงสุด 200 บาท (ใหม่)
การเบิกฝากครรภ์ประกันสังคมจะให้ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายมาใช้สิทธิก็ได้ เบิกที่สำนักงานประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้าง) หรือ มาตรา 39 (ส่งเอง) หรือ เป็นบุคคลตามมาตรา 38 (2) หรือมาตรา 41 (3), (4), (5) ที่นำส่งเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนที่ใช้สิทธิ
มีเอกสารที่ต้องใช้ในการเบิกฝากครรภ์ ประกันสังคมดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม สปส. 2-01 (ดาวน์โหลด)
- ใบเสร็จจากสถานพยาบาลที่เข้ารับการฝากครรภ์
- ใบรับรองแพทย์ หรือ อนุโลมให้ใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กประจำตัวหญิงตั้งครรภ์ ที่มีชื่อแม่ผู้ตั้งครรภ์และรายละเอียดการบันทึกตามแต่ละช่วงอายุครรภ์แทนได้
- ถ้าคุณพ่อมาเบิก ให้นำสำเนาทะเบียนสมรส หรือ หนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส (ดาวน์โหลด) มาด้วย แต่ถ้าคุณแม่มาเบิกต้องใส่เลขบัตรประชาชนของคุณพ่อเพื่อป้องกันการใช้สิทธิซ้ำ
อ้างอิง ประกันสังคม, สื่อประชาสัมพันธ์ประกันสังคม,3