หุ้น IPO หลายคนที่เป็นนักลงทุนหน้าใหม่อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง หรือเคยได้สัมผัสได้ทดลองซื้อหุ้น IPO แห่งปีอย่าง OR ไปแล้ว โดยหุ้น IPO ย่อมาจาก Initial Public Offering หมายถึงการที่บริษัทที่ประกอบกิจการได้ออกมาเสนอขายหุ้นของบริษัทครั้งแรกต่อสาธารณชน โดยนักลงทุนหลายคนชอบที่จะซื้อหุ้น IPO เพื่อการเก็งกำไรเนื่องจากการคาดการณ์ว่าราคาเริ่มต้นอาจจะยังไม่สูงมากนัก มีโอกาสที่จะทำกำไรได้ทั้งในระยะสั้นหรือในระยะยาว รวมทั้งหากเป็นธุรกิจที่ดูแล้วมีการเติบโตสูง บริษัทมีธุรกิจหรือการลงทุนที่น่าสนใจก็มีโอกาสที่จะได้ปันผลจากผลประกอบการที่ดีอีกด้วย แต่การซื้อหุ้น IPO นั้นไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป หลายครั้งที่ราคาของหุ้นร่วงหล่นไปกว่าราคาเปิดจอง หรือราคาแรกในตลาด ดังนั้นการที่นักลงทุนมือใหม่จะซื้อหุ้น IPO นี้ควรมีการทำการบ้านเตรียมตัวให้พร้อมก่อน โดยวันนี้เราจะมานำเสนอเทคนิคง่ายๆ ให้เพื่อนๆ ได้ลองนำไปใช้กัน
ปรับทัศนคติ
ปรับทัศนคติ ทำความเข้าใจว่าการลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง การที่เราตัดสินใจซื้อหุ้น IPO ไม่ได้หมายความหุ้น IPO ทุกตัวจะมีราคาขึ้นสูงกว่าราคาเปิดขายเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยตัวอย่างมีให้เห็นมากมายทั้งราคาต่ำจองในทันทีที่เปิดตัว หรือราคาขึ้นไปได้ไม่กี่วันก็ร่วงหล่นลงมาต่ำกว่าราคาเปิด IPO ดังนั้นก่อนการลงทุนเราต้องตอบจุดหมายของการซื้อหุ้นของเราในครั้งนี้ให้ได้ว่ามีจุดประสงค์ใด และเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน
หุ้น | วันที่ | ราคา IPO | เปิดวันแรก | ปิดวันแรก | ราคาเปิด 14 ก.ย. 64 |
NCAP | 9 พ.ย. 63 | 2.20 | 3.20 | 3.06 | 12.60 |
KEX | 24 ธ.ค. 63 | 28.00 | 65.00 | 51.25 | 39.00 |
OR | 11 ก.พ. 64 | 18.00 | 26.5 | 29.25 | 29.25 |
TIDLOR | 10 พ.ค. 64 | 36.50 | 53.50 | 45.75 | 38.75 |
SNNP | 20 ก.ค. 64 | 9.2 | 11.9 | 10.4 | 12.20 |
MENA | 7 ก.ค. 64 | 1.2 | 1.60 | 2.48 | 1.94 |
DMT | 7 พ.ค. 64 | 16.00 | 17.60 | 15.9 | 13.80 |
CV | 2 ก.ย. 64 | 3.9 | 3.96 | 3.92 | 3.80 |
จากตารางราคาหุ้น IPO เทียบราคาเปิด-ปิด-ราคาปัจจุบัน จะพบว่าไม่ใช่หุ้นทุกตัวจะมีราคาสูงขึ้นจากราคาเปิดตัวเสมอไป
ทำการบ้านก่อนการลงทุน
การที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แถมเป็นบริษัทที่จะเพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยแล้วนั้น สิ่งที่เพื่อนๆ ควรทำคือการทำความรู้จักบริษัทนั้นก่อน ก่อนที่จะฝากเงินของเราไปลงทุน โดยสิ่งที่เพื่อนๆ ควรรู้คือ
- ภาพรวมบริษัทว่าประกอบกิจการอะไร แบรนด์สินค้ามีแบรนด์ไหน วิสัยทัศน์และนโยบายทิศทางการลงทุนของผู้บริหารเป็นอย่างไรบ้าง
- ดูข้อมูลพื้นฐานทางการเงินของบริษัท เช่น รายได้ ผลประกอบการ กำไรสุทธิ รวมทั้งข้อมูลทางการเงินต่างๆ ว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร หากบริษัทมีผลกำไรต่อเนื่องก็ไม่แปลกที่เราจะอยากลงทุนใช่ไหม แต่หากผลประกอบการติดลบตลอด ก็ต้องมานั่งถามตัวเองแล้วว่าเราจะนำเงินเราไปร่วมลงทุนกับเค้า ด้วยเหตุผลใดกัน
- วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางธุรกิจ ว่าบริษัทที่เราจะนำเงินไปลงทุนมีโอกาสในการเติบโตมากน้อยเพียงใด และลักษณะของกิจการที่ทำอยู่มีคู่แข่งเป็นใคร จุดเด่นของบริษัทคืออะไรเพื่อดูทิศทางการเติบโตในอนาคต และความสามารถในการแข่งขัน
- ดูจุดประสงค์ของการระดมเงินทุนผ่านการขายหุ้นของบริษัท ว่าการที่บริษัทเปิดขายหุ้นต่อสาธารณะนั้น มีจุดประสงค์เพื่อการนำเงินไปใช้ทำอะไร จะนำไปลงทุนต่อ ไปซื้อกิจการอื่น ไปชำระหนี้สิน สิ่งเหล่านี้จะบอกทิศทางและสถานะของบริษัทกับเพื่อนๆ ว่าบริษัทมีแนวโน้มจะโตไปในทิศทางไหน คุ้มหรือไม่ที่จะลงทุนด้วย
หาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ
การที่หุ้นตัวไหนกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ย่อมเป็นที่สนใจของแวดวงธุรกิจการลงทุน โดยจะมีผู้แนะนำการลงทุนจากสำนักทางการเงินต่างๆ เขียนบทวิเคราะห์ออกมา ซึ่งคุณสามารถนำมาอ่านเพื่อเป็นแนวทางในการประกอบการตัดสินใจ โดยดูว่าแต่ละสำนักให้ราคาหุ้นตัวนี้ไปในทิศทางใด และมองภาพธุรกิจของบริษัทนี้ว่ามีโอกาสเติบโตหรือไม่ หุ้นตัวนี้เหมาะกับการเก็งกำไรระยะสั้น หรือเพื่อการลงทุนระยะยาว ทำให้เรามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
วางแผนการซื้อหุ้น
การที่เราจะซื้อหุ้น IPO นั้นจะมี 2 วิธีคือ
- ซื้อหุ้นผ่านการจองก่อนการเปิดจำหน่ายในตลาด ผ่านธนาคารต่างๆ แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับทางธนาคาร Broker และทางบริษัทเองด้วยว่าจะกำหนดเงื่อนไขในการจองหุ้นก่อนอย่างไรบ้าง
- การซื้อขายในตลาดเมื่อถึงวันเปิดขาย
ทั้งสองวิธีนี้จะมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน การซื้อผ่านการจองก่อน แม้อาจได้หุ้นราคาถูก แต่ก็มีความเสี่ยงในกรณีที่ราคาหุ้นเปิดวันแรกมีราคาต่ำกว่าราคาจอง หรือหากการไปซื้อในตลาดข้อดีคือได้ดูทิศทางของราคาหุ้นว่าเป็นไปในทิศทางใด แต่ก็มีข้อเสียคืออาจได้ราคาที่ค่อนข้างสูง ที่เรียกกันว่าทุนสูงซึ่งก็มีความเสี่ยงหากราคาหุ้นวิ่งไปถึงจุดกลับตัวลงมา หรือหมดแรงขึ้นต่อ ทำให้ได้กำไรน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ หรือติดดอยต้องคัทหุ้นทิ้งกลายเป็นขาดทุนไปก็เป็นได้