“จังหวัดเชียงใหม่” เป็นเมืองภูมิภาคที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ และเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาโบราณ ที่พึ่งเข้ามารวมกับประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบเมื่อสมัยรัชกาลที่ 8 นี่เอง ทำให้เชียงใหม่มีความเป็นเอกลักษณ์ และมีความเป็นศูนย์กลางในตัวเองคล้ายกับกรุงเทพมหานคร แต่ทว่าในด้านของเศรษฐกิจแล้ว แม้เชียงใหม่จะมีประชากรจำนวนมาก มีสถานศึกษา สถานที่ราชการขนาดใหญ่หลายแห่ง อีกทั้งยังเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกด้วย แต่ในแวดวงการทำธุรกิจกลับขนานนามเชียงใหม่ว่าเป็น “เมืองปราบเซียน” ซึ่งนักลงทุนที่ว่าแน่ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ต้องพับเสื่อกลับบ้านกันไปหลายรายแล้ว วันนี้ไหนดี จึงพามาชี้ประเด็นกันให้เห็น ว่าเชียงใหม่คือเมืองปราบเซียนของคนทำธุรกิจจริงไหม และหากอยากทำธุรกิจในเชียงใหม่ให้อยู่รอดควรทำอย่างไร ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
สาเหตุที่เชียงใหม่ถูกเรียกว่าเป็นเมืองปราบเซียน
- คนพื้นที่กำลังซื้อไม่สูง จึงไม่นิยมเข้าร้านแบรนด์ดัง ด้วยภาพรวมรายได้ต่อหัวของประชากรในเชียงใหม่ ไม่ได้สูงเท่ากรุงเทพฯ หรือเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ทำให้ในชีวิตประจำวันคนพื้นที่นิยมซื้อของจากร้านในท้องถิ่น เช่น ทานอาหารร้านเจ้าเก่าแก่ในจังหวัด, ซื้อกับข้าวหรือซื้อเสื้อผ้าจากกาดหลวง ตลาดนัด หรือห้างที่คุ้นเคย อย่าง Big C, Lotus เป็นต้น จึงทำให้กลุ่มคนที่จะเข้าร้านอาหารราคาค่อนข้างสูง ไปจนถึงร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนม มักจะเป็นกลุ่มชาวต่างชาติ, กลุ่มนักธุรกิจ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวมากกว่า
- คู่แข่งเยอะ อยู่ไม่ได้ถ้าสินค้าหรือบริการไม่เจ๋งจริง ด้วยสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ และวัฒนธรรมของเชียงใหม่ ตลอดจนความเจริญและธรรมชาติที่ควบคู่ไปด้วยกัน ทำให้มีแต่คนอยากมาอยู่เชียงใหม่ นักลงทุนหลายคนจากหลายจังหวัด ต่างวาดฝันว่าเชียงใหม่จะเป็นสถานที่ลงทุนทำธุรกิจ และอยู่อาศัยควบคู่ไปด้วย ทำให้ภาพรวมโดยเฉพาะธุรกิจ SME จึงมีคู่แข่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น ร้านกาแฟ หากเราเดินเล่นในเมืองเชียงใหม่ เราจะเห็นเลยว่ามีร้านกาแฟมากมาย แทบจะทุก ๆ 500 เมตรเลยก็ว่าได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เหมือนดาบสองคม ที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต่างแข่งขันกันเองอย่างดุเดือด และหากร้านไหนหาจุดขายไม่เจอ, สินค้าหรือบริการไม่โดดเด่น ทำให้ลูกค้าไม่กลับมาใช้บริการอีกแน่นอน เพราะบริเวณใกล้เคียงกันมีตัวเลือกเยอะ มีร้านใหม่ ๆ มาเปิดดึงดูดใจเสมอ เป็นต้น
- กลุ่มคนมีกำลังซื้อ วัยแรงงานจบระดับปริญญาตรีขึ้นไป มักไม่ได้ทำงานอยู่เชียงใหม่ แม้เชียงใหม่จะมีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่หลายแห่ง ที่ผลิตนักศึกษาออกมาเป็นจำนวนมาก แต่แทนที่คนเหล่านี้จะทำงานอยู่ในเชียงใหม่ เป็นฐานลูกค้า และกำลังซื้อที่ดีให้กับธุรกิจ SME ต่าง ๆ แต่ด้วยค่าแรงของเชียงใหม่ที่ยังต่ำมาก แม้จะจบปริญญาตรีเงินเดือนยังอยู่ระหว่าง 9,000 – 12,000 ทำให้กลุ่มนักศึกษาจบใหม่เหล่านี้มักจะย้ายถิ่นฐานไปทำงานแถวกรุงเทพ หรือภาคตะวันออก ที่ให้รายได้สูงกว่า กลายเป็นกลุ่มกำลังซื้อในเชียงใหม่เป็นกลุ่มคนสูงวัย, กลุ่มนักท่องเที่ยว, กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มพนักงานเอกชน ฯลฯ ที่รายได้ไม่สูงมาก หรือมีเงื่อนไขในการซื้อสินค้าเยอะแทน
อยากทำธุรกิจในเชียงใหม่ให้อยู่รอด ควรทำอย่างไร?
ถึงแม้เชียงใหม่จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองปราบเซียน แต่ก็มีหลายธุรกิจที่สามารถอยู่รอด และเติบโตได้ดี จนขยายกิจการออกไปยังกรุงเทพมหานคร และเมืองอื่น ๆ ด้วย เช่น สลัดโอ้กระจู๋, ร้านขนมหวานชีวิตชีวา หรือผึ้งน้อยเบเกอร์รี่ เป็นต้น โดยร้านเหล่านี้เป็นตัวอย่างของความสำเร็จและความเข้าใจลูกค้า โดยสิ่งที่ร้านเหล่านี้ล้วนมี DNA แห่งความสำเร็จร่วมกัน ได้แก่
- มีจุดเด่นที่ชัดเจน ดึงดูดใจลูกค้า ด้วยความที่คนเชียงใหม่มีตัวเลือกเยอะ ทำให้เบื่อง่าย หรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยว ที่อยากจะซื้อสินค้า หรือเข้ามาเยี่ยมชมร้านใหม่ ๆ ตลอดเวลา ดังนั้น สินค้าและบริการต้องเด่นจริง เช่น มีการตกแต่งร้านน่าดึงดูดใจ, สินค้าและบริการแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ฯลฯ
- สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว ปัจจัยหลักของความสำเร็จ ในการทำธุรกิจในเชียงใหม่ คือ ทำอย่างไรให้เกิดการซื้อซ้ำของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น โปรแกรมสะสมแต้ม, โปรแกรมคืนเงิน, โปรแกรมแลกของรางวัล เป็นต้น
- อย่าหวังพึ่งแต่ลูกค้ารายเล็ก ด้วยความที่เชียงใหม่ฐานเงินเดือนไม่สูง และภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาในเชียงใหม่จำนวนมาก มักเป็นช่วงหน้าหนาวหรือสงกรานต์เท่านั้น ดังนั้น การจะทำธุรกิจให้อยู่รอด ต้องสร้างฐานลูกค้าในระดับกลางไปจนถึงระดับใหญ่ ในรูปแบบการขายแบบ B2B (Business to Business ) ด้วย เพราะกลุ่มลูกค้าขององค์กรเหล่านี้มีกำลังซื้อสูง และมีจำนวนซื้อต่อครั้งสูงกว่า ลูกค้ารายย่อยมาก ตัวอย่างการขายแบบ B2B เช่น การเปิดร้านกาแฟ แต่มีบริการจัดเลี้ยง จัดทำอาหารว่าง ฯลฯ ให้กับกลุ่มบริษัทในจังหวัดหรือบริษัททัวร์ด้วย เป็นต้น
- สร้างช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อขยายฐานลูกค้า ในยุค 2022 ถึงแม้ว่าร้านของคุณจะอยู่ในเชียงใหม่ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องขายของให้แต่คนเชียงใหม่เสมอไป หากสินค้าของเรามีจุดเด่นจริง ๆ เป็นที่ต้องการ การขยายโอกาสการเข้าถึงสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถือเป็นการสร้างยอดขายที่ดีและใช้เงินลงทุนเพียงน้อยนิด เช่น การขายของผ่านเพจ Facebook, เปิดร้านค้าใน Shopee หรือ Lazada ฯลฯ ก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดี ที่ทำให้เราสามารถขายของได้ตลอดเวลา และไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถซื้อสินค้าจากร้านเราได้นั่นเอง