หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้คลี่คลายลง ประชาชนจึงเริ่มกลับมาท่องเที่ยว กลับมาจับจ่ายใช้สอยกันเหมือนปกติ แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจแล้ว นี่เป็นช่วงเวลาในการฟื้นตัวกิจการของตนเอง ซึ่งอาจจะซบเซาหรือต้องหยุดกิจการไป เนื่องจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ และความหวาดกลัวของประชาชน
แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจหลายคน เมื่อกลับมาเปิดกิจการแล้ว กลับพบว่าลูกค้าน้อยลงกว่าเดิมหรือค้าขายไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งแน่นอนว่าโควิด-19 ได้เปลี่ยนโลก และสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่เรารู้จักไปอย่างสิ้นเชิง วันนี้ ไหนดี จะพาไปดูว่าโลกของการทำธุรกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีเทรนด์การทำธุรกิจแบบไหน ที่เจ้าของกิจการควรทราบและนำไปปรับใช้หรือพัฒนาธุรกิจของตนกันบ้าง ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
เจาะเทรนด์ธุรกิจ 2022 ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อปรับตัวและก้าวเดินต่อไป
1. O2O Marketing การทำธุรกิจแบบออนไลน์สู่ออฟไลน์
หรือที่เราเรียกกันว่า การทำธุรกิจแบบ Online to Offline เนื่องจากในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปซื้อหาสินค้าเองได้ ทำให้การค้าขายออนไลน์เฟื่องฟูและเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง สินค้าบางอย่างที่เมื่อก่อนไม่มีขายออนไลน์ เช่น ร้านขนมเจ้าดัง, ร้านอาหารในโรงแรม ฯลฯ กลับหาซื้อได้อย่างง่ายดายบนโลกออนไลน์
- ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องสร้างช่องทางออนไลน์ของตน เพื่อเพิ่มโอกาสการขาย ผสานระหว่างช่องทางออนไลน์และการค้าขายหน้าร้านเข้าด้วยกัน ไม่ว่าลูกค้าจะสะดวกเข้ามาช่องทางไหน ธุรกิจของเราก็พร้อมบริการและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
2. One Stop Service การทำธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ
เมื่อโลกของการทำธุรกิจออนไลน์เฟื่องฟู และมีคู่แข่งมากมายที่เข้ามาแข่งขันในธุรกิจของเรา รวมทั้งลูกค้าก็ติดความสะดวกสบายมากขึ้น หรือบางคนอาจจะไม่มีเวลาที่จะมาซื้อหาสินค้าและบริการมากขนาดนั้น ดังนั้น ธุรกิจของเราต้องมีการบริการลูกค้าแบบเบ็ดเสร็จ ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้
- ดังนั้น ธุรกิจต้องขายสินค้าและการบริการ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น หากเราทำธุรกิจร้านผ้าม่าน ลูกค้ามาของซื้อผ้าม่านกับร้านเรา เมื่อก่อนเราก็อาจจะขายแต่ผ้าม่านอย่างเดียว ลูกค้าต้องไปหาช่างมาติดตั้งเอง แต่ถ้าเรามีบริการไปติดตั้งผ้าม่านให้ลูกค้า ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการปิดการขาย และได้รายได้เพิ่มจากการบริการอีกด้วย เป็นต้น
3. Customer Personal Data การบริหารข้อมูลส่วนบุคคลลูกค้า
ในยุคการแข่งขันแบบดิจิทัลที่บริษัทใหญ่ ๆ มีการเก็บข้อมูลการซื้อสินค้าของลูกค้า เพื่อนำไปวิเคราะห์ และจัดทำโปรโมชันและทำการตลาด ธุรกิจของเราก็จำเป็นจะต้องทำแบบเดียวกัน เนื่องจากความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันมีความละเอียดอ่อนและแตกต่างกันมากกว่าเมื่อก่อนมาก
- ดังนั้น ธุรกิจที่สามารถทราบได้ตั้งแต่ลูกค้าเข้ามาที่ร้าน ว่าลูกค้ารายนี้เคยซื้อสินค้าอะไรไปบ้าง ชอบสินค้าแนวไหน มีงบประมาณในการจ่ายที่เท่าไหร่ จะทำให้ฝ่ายขายสามารถแนะนำสินค้าที่เหมาะสม และสร้างโอกาสการปิดการขายได้มากขึ้นกว่าเดิม ไปจนถึงเพิ่มความประทับใจในการบริการ จนเกิดโอกาสในการกลับมาใช้บริการซ้ำนั่นเอง
4. Fast Moving การปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
ในยุคที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูง อีกทั้งลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลร้านค้า และสามารถทำการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยการบริหารข้อมูลในเรื่อง Customer Personal data มาปรับใช้ ว่าเราจะออกแบบสินค้าและบริการอย่างไรที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
- หากคิดว่าไอเดียนี้ใช่ ต้องรีบลองทำทันที และให้ลูกค้าเป็นผู้ให้คำตอบเองว่าสินค้าหรือบริการที่เราคิดขึ้นมาใหม่ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หรือไม่ เช่น หากเราเปิดร้านขายผัก แต่มีผักมะระ ที่ขายไม่ค่อยออก ธุรกิจแบบเดิมก็อาจจะสั่งมะระมาซ้ำ ๆ เพื่อให้มีติดร้านไว้แบบนั้น แต่ธุรกิจสมัยใหม่ต้องวิเคราะห์ว่าจะเอามะระที่เหลือไปทำอะไร และจะหาผักชนิดใหม่แบบไหนมาขายทดแทนดี เป็นต้น
5. Partner’s Era ยุคทองของหุ้นส่วนทางธุรกิจ
ในปัจจุบัน การทำธุรกิจด้วยตัวเองเพียงคนเดียว และหากธุรกิจาไม่มีจุดเด่นมากพอ ก็อาจจะประสบความยากลำบาก เนื่องจากคู่แข่งก็มีสินค้าและบริการเหมือนกับเรา
- ดังนั้น จึงเป็นยุคของการหาเพื่อนหรือ Partner ทางธุรกิจ ที่จะมาเสริมให้ธุรกิจของเรามีสินค้าและบริการที่โดดเด่น ตลอดจนตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากกว่าเดิม เช่น หากเราทำร้านขายของชำ และไปชวนเต่าบินมาลงตู้ขายน้ำอัตโนมัติ ก็จะดึงดูดลูกค้ามาที่ร้านมากกว่าเดิม รวมทั้งอาจเพิ่มโอกาสการขายสินค้าในร้านของเราด้วย เป็นต้น