“Startup” คำยอดฮิตสุดเท่ห์ของคนทำธุรกิจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และอาจเป็นคำคุ้นหูใครหลาย ๆ คน ซึ่งบางคนก็พอจะรู้ความหมายของ Startup กันมาบ้าง แต่บางคนก็อาจจะยังไม่เข้าใจความหมายของธุรกิจ Startup ว่าคือธุรกิจอะไร มีการดำเนินธุรกิจแบบไหน แล้วมันเข้าท่าเหรอ ทำไมคนรุ่นใหม่หันมาทำ Startup กันอย่างมากมายล่ะ วันนี้ไหนดีจะพามาหาคำตอบว่า “ธุรกิจ Startup คืออะไร อยากทำ Startup จะเริ่มอย่างไรดี”
Startup คืออะไร ?
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจความหมายและลักษณะของธุรกิจ Startup กันก่อน ซึ่ง “Startup” คือคำที่แทนความหมายของการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่เริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ ที่ผ่านการลองผิดลองถูก จนสามารถมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือบริการที่แตกต่าง ออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และได้รับการยอมรับ จนเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีเงินระดมทุนเข้ามาสนับสนุนจำนวนมาก จนเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในที่สุด
Startup น่าสนใจอย่างไร และแตกต่างจากธุรกิจ SME อย่างไรบ้าง
หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีข้อสงสัยว่า แล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่าง “ธุรกิจ Startup” กับ “SME” กันล่ะ แล้ว Startup น่าสนใจอย่างไร ทำไมถึงกลายเป็นเทรนด์การทำธุรกิจของคนยุคใหม่ไปแล้ว ซึ่งลักษณะที่โดดเด่นและน่าสนใจของ Startup มีดังนี้
- กระบวนการในการเกิดธุรกิจ เนื่องจาก Startup ส่วนใหญ่เกิดจากการตอบโจทย์ปัญหา หรือที่เรียกกันว่า “Pain Point” ของลูกค้าที่ไม่เคยมีใครแก้ไขปัญหาเหล่านั้นมาก่อน ซึ่งหากธุรกิจสามารถแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้เกิดขึ้นอย่างมหาศาลได้เช่นกัน
- เช่น ธุรกิจส่งอาหาร อาทิ Grab food, Robinhood, Lineman ฯลฯ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เกิดมาจากการมองเห็นปัญหาของลูกค้า ที่ไม่อยากออกไปซื้ออาหาร ทั้งรถติด, แดดร้อน, ไม่มีที่จอดรถ หรือไม่อยากไปรอคิว เมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นจำนวนมาก และธุรกิจส่งอาหารเหล่านี้เกิดขึ้นมาให้สามารถแก้ปัญหาของผู้บริโภคดังกล่าวได้ จึงทำให้เกิดกระแสการเติบโตเป็นอย่างมากในประเทศไทย
ดังนั้น หากจะเป็นธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จ ต้องแก้โจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ ธุรกิจ Startup ต้องมีสินค้า, บริการใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
- เติบโตอย่างก้าวกระโดด Startup จะใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาลัดขั้นตอนเหล่านั้น หรือหา Partner เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
- เช่น ธุรกิจการส่งอาหารข้างต้น หากเราทำธุรกิจแบบเดิม ประเภท SME ต่าง ๆ การเติบโตทางธุรกิจของเราอาจเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อยากจะขยายธุรกิจได้เยอะ ๆ ก็ต้องรับสมัครพนักงานส่งอาหารจำนวนมาก ซึ่งเงินเดือนหรือค่าจ้าง ทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างล่าช้า
- แต่ Startup ใช้แอปพลิเคชันเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างลูกค้า, ร้านค้า และหา Partner อย่างการหาพนักงานส่งอาหารมาร่วมงาน ทำให้สามารถขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว และลงทุนน้อยกว่าธุรกิจ SME นั่นเอง
- แหล่งเงินทุนที่หลากหลาย Startup แตกต่างจาก SME อีกอย่างหนึ่งคือแหล่งที่มาของเงินทุน
- ธุรกิจ SME อาจได้ที่มาของเงินทุนเป็นธนาคารต่าง ๆ
- แต่ Startup จะขายไอเดียว่าธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างไร และโอกาสเติบโตมีแค่ไหน เพื่อขายไอเดียให้กับนักลงทุน ทำให้ Startup มีแหล่งเงินทุนที่ไม่จำกัด อีกทั้งมีเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นกว่าธุรกิจ SME
อยากทำธุรกิจ Startup เริ่มอย่างไรดี ?
สำหรับใครที่อยากทำธุรกิจ Startup เป็นของตนเอง ไหนดีขอแนะนำขั้นตอนเบื้องต้น สำหรับผู้ที่ต้องการจะเริ่มทำธุรกิจ Startup ว่าควรเตรียมตัว เพื่อจะสร้างธุรกิจของตนให้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง โดยการทำธุรกิจ Startup ควรมีการวางแผนสร้างขั้นตอนเริ่มต้นการทำธุรกิจ ดังนี้
- ค้นหาความต้องการของผู้บริโภค ว่าอะไรคือปัญหาที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับการแก้ไข และความต้องการนั้นมีมากน้อยเพียงใด การหาความต้องการของผู้บริโภค ก็เพื่อจะนำไปสู่การคิดไอเดีย, สินค้า และบริการ เพื่อมาแก้ไขปัญหาต่อไป
- ค้นหาวิธีแก้ไขปัญหา เมื่อทราบถึงปัญหาของผู้บริโภคที่เราอยากเข้าไปแก้ไขแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การหาวิธีแก้ปัญหาของผู้บริโภคดังกล่าว ว่าเราสามารถผลิตสินค้าหรือบริการใดบ้าง ที่จะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคของเราได้
- ทดสอบไอเดีย ธุรกิจ Startup จะดำเนินการสร้างธุรกิจแบบ Test and Learn ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบธุรกิจในยุคก่อน ยกตัวอย่างเช่น
- ปัญหาการเดินทางไปทำงาน ธุรกิจแบบเดิมอาจไปทุ่มเทสร้างรถยนต์หนึ่งคันจนสำเร็จ แล้วเอาไปเสนอขายผู้บริโภค
- แต่ Startup จะเริ่มจากสเก็ตบอร์ด แล้วไปถามผู้บริโภคว่าแค่นี้พอใจหรือยัง อยากปรับตรงไหน อยากได้แบบไหน ท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคอาจไม่ต้องการรถยนต์ แต่ต้องการระบบขนส่งสาธารณะดี ๆ แทนก็ได้ ทำให้การทดสอบไอเดียของ Startup สามารถยืนยันได้ว่า สินค้าและบริการของเรา สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าจริง ๆ
- หาเงินลงทุน หากเรามีข้อมูลมากพอ ที่พิสูจน์ว่าธุรกิจ startup ของเราตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ และเริ่มมีลูกค้าเข้ามาทดลองใช้บริการ หรือมี Partner เข้ามาร่วมในธุรกิจขอวเรา ขั้นตอนต่อไป คือ การหาแหล่งเงินทุนในการขยายธุรกิจ มีทั้งนักลงทุนทั่วไป หรือนำไอเดียของเราไปประกวดในงานแข่งขัน Startup ซึ่งมีหลายเวทีในประเทศไทย ที่จัดการแข่งขันกันอยู่ หากนักลงทุนสนใจ เราก็จะได้รับเงินสนับสนุนมาขยายธุรกิจต่อไปนั่นเอง