“นายจ้าง” vs “ลูกจ้าง” ค่าแรง 600 บาท ใครปัง ใครร่วง?

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในเรื่องเกี่ยวกับการประกาศนโยบายของพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงล่าสุด ที่ประกาศว่าจะยกระดับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย จากเฉลี่ยอยู่ที่ 350 บาท มาเป็น 600 บาท ทำให้เกิดกระแสถกเถียงกันเป็นวงกว้าง ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาเป็น 600 บาท จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และจะเกิดผลกระทบอย่างไร ระหว่างฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง

วันนี้ ไหนดี จึงขอเสนอมุมมองทั้งสองฝั่ง ถ้าหากเราเป็นนายจ้างจะเกิดผลกระทบอย่างไร และหากเราเป็นลูกจ้างเราจะได้ประโยชน์จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทนี้แค่ไหน ไปดูรายละเอียดกันได้เลย

“นายจ้าง” vs “ลูกจ้าง” ค่าแรง 600 บาท ใครปัง ใครร่วง?

มุมมองค่าแรง 600 บาท สำหรับนายจ้าง

            สำหรับฝั่งของนายจ้าง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาเป็น 600 บาทต่อวัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะทำให้ต้นทุนเรื่องของค่าจ้างสูงขึ้นกว่าเท่าตัว โดยสำหรับนายจ้างเองอาจจะมีข้อดีและข้อเสียจากนโยบายค่าแรง 600 บาท ดังนี้

ข้อดี สำหรับนายจ้าง

  • เกิดกำลังซื้อในระดับมหภาคมากขึ้น เนื่องจากภาคประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ย่อมหมุนเวียนมาสู่การซื้อหาสินค้า และบริการจากบริษัทต่าง ๆ ภายในประเทศมากขึ้นกว่าเดิม
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงภาคบังคับ ทำให้นายจ้างต้องหาเครื่องมือ และเทคโนโลยีต่าง ๆ หรือพัฒนากระบวนการทำงานให้สามารถทดแทนแรงงานคน และสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้
  • ในระดับมหภาคเมื่อค่าแรงสูงขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ จะทำให้แรงงานที่มีฝีมือ มีทักษะ อยู่ทำงานในประเทศมากขึ้น ไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานต่างประเทศ ทำให้นายจ้างมีโอกาสคัดเลือกแรงงานที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาธุรกิจได้

ข้อเสีย สำหรับนายจ้าง

  • ต้นทุนในการประกอบกิจการเพิ่มสูงขึ้น ทั้งต้นทุนทางตรงที่ต้องจ่ายทุกเดือน คือ ค่าจ้าง, OT และต้นทุนทางอ้อมที่จะต้องจ่ายเมื่อถึงเวลา เช่น ค่าชดเชย, เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, โบนัส เป็นต้น
  • ศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลาง-ขนาดย่อม (SME : Small and Medium Enterprises) ลดลง เนื่องด้วยค่าแรงที่สูงแต่ SME ยังมีทุนสำรองน้อย หรือยังมียอดขายที่อาจจะไม่สามารถแบกรับต้นทุนดังกล่าวได้ อาจทำให้จำเป็นต้องปิดกิจการ หรือไม่สามารถขยายกิจการได้ คงเหลือแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่พอมีทุนสำรองในการแบกรับต้นทุนการเพิ่มค่าแรงได้
  • นายจ้างอาจต้องลงทุนย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ หากไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าจ้างแรงงานไหว

 

 มุมมองค่าแรง 600 บาท สำหรับลูกจ้าง

แน่นอนว่า หากเราเป็นฝั่งลูกจ้าง อาจจะคิดว่าการได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ย่อมเป็นผลดีแก่ลูกจ้างอย่างแน่นอน แต่บางครั้งก็อาจจะไม่เสมอไป เพราะยังคงมีข้อที่ต้องกังวลหลายประการด้วยกัน โดยไหนดี ขอยกตัวอย่าง ดังนี้

ข้อดี สำหรับลูกจ้าง

  • ลูกจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและสามารถซื้อหาสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้มากขึ้น
  • เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่นอกระบบและคอยเอาเปรียบลูกจ้าง จำเป็นต้องกลับเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อรับมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาครัฐ
  • ลูกจ้างได้รับเงินได้ต่าง ๆ ตามสวัสดิการมากขึ้น เช่น ค่าโอที, ค่าชดเชย, โบนัส ฯลฯ

ข้อเสีย สำหรับลูกจ้าง

  • อาจทำให้ตำแหน่งงานว่างในระบบลดลง เนื่องจากนายจ้างต้องพยายามใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย เพื่อลดจำนวนคนให้ได้มากที่สุด
  • ทำให้เกิดการตกงานเป็นวงกว้าง เนื่องจากกลุ่มบริษัททุนข้ามชาติ อาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า
  • ค่าครองชีพสูงขึ้น เนื่องจากหากต้นทุนการประกอบกิจการต่าง ๆ สูงขึ้น ย่อมทำให้ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นด้วย นั่นหมายความว่า แม้จะได้ค่าแรงเพิ่ม แต่ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ก็เพิ่มตามด้วยนั่นเอง
  • เกิดการทะลักของแรงงานเถื่อนนอกระบบจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาแย่งงานคนในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายแห่งอาจยอมเสี่ยงจ้างแรงงานนอกระบบ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo