ธุรกิจ Start Up คืออะไร อยากทำ Start Up จะเริ่มอย่างไรดี

          “Startup” คำยอดฮิตสุดเท่ห์ของคนทำธุรกิจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และอาจเป็นคำคุ้นหูใครหลาย ๆ คน ซึ่งบางคนก็พอจะรู้ความหมายของ Startup กันมาบ้าง แต่บางคนก็อาจจะยังไม่เข้าใจความหมายของธุรกิจ Startup ว่าคือธุรกิจอะไร มีการดำเนินธุรกิจแบบไหน แล้วมันเข้าท่าเหรอ ทำไมคนรุ่นใหม่หันมาทำ Startup กันอย่างมากมายล่ะ วันนี้ไหนดีจะพามาหาคำตอบว่า “ธุรกิจ Startup คืออะไร อยากทำ Startup จะเริ่มอย่างไรดี”

Startup คืออะไร ?

         ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจความหมายและลักษณะของธุรกิจ Startup กันก่อน ซึ่ง “Startup” คือคำที่แทนความหมายของการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่เริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ ที่ผ่านการลองผิดลองถูก จนสามารถมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือบริการที่แตกต่าง ออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และได้รับการยอมรับ จนเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีเงินระดมทุนเข้ามาสนับสนุนจำนวนมาก จนเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในที่สุด

Startup น่าสนใจอย่างไร และแตกต่างจากธุรกิจ SME อย่างไรบ้าง

            หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีข้อสงสัยว่า แล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่าง “ธุรกิจ Startup” กับ “SME” กันล่ะ แล้ว Startup น่าสนใจอย่างไร ทำไมถึงกลายเป็นเทรนด์การทำธุรกิจของคนยุคใหม่ไปแล้ว ซึ่งลักษณะที่โดดเด่นและน่าสนใจของ Startup มีดังนี้

  • กระบวนการในการเกิดธุรกิจ เนื่องจาก Startup ส่วนใหญ่เกิดจากการตอบโจทย์ปัญหา หรือที่เรียกกันว่า “Pain Point” ของลูกค้าที่ไม่เคยมีใครแก้ไขปัญหาเหล่านั้นมาก่อน ซึ่งหากธุรกิจสามารถแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้เกิดขึ้นอย่างมหาศาลได้เช่นกัน 
    •  เช่น ธุรกิจส่งอาหาร อาทิ Grab food, Robinhood, Lineman ฯลฯ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เกิดมาจากการมองเห็นปัญหาของลูกค้า ที่ไม่อยากออกไปซื้ออาหาร ทั้งรถติด, แดดร้อน, ไม่มีที่จอดรถ หรือไม่อยากไปรอคิว เมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นจำนวนมาก และธุรกิจส่งอาหารเหล่านี้เกิดขึ้นมาให้สามารถแก้ปัญหาของผู้บริโภคดังกล่าวได้ จึงทำให้เกิดกระแสการเติบโตเป็นอย่างมากในประเทศไทย

          ดังนั้น หากจะเป็นธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จ ต้องแก้โจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ได้  ธุรกิจ Startup ต้องมีสินค้า, บริการใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

  • เติบโตอย่างก้าวกระโดด Startup จะใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาลัดขั้นตอนเหล่านั้น หรือหา Partner เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
    • เช่น ธุรกิจการส่งอาหารข้างต้น หากเราทำธุรกิจแบบเดิม ประเภท SME ต่าง ๆ การเติบโตทางธุรกิจของเราอาจเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อยากจะขยายธุรกิจได้เยอะ ๆ ก็ต้องรับสมัครพนักงานส่งอาหารจำนวนมาก ซึ่งเงินเดือนหรือค่าจ้าง ทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างล่าช้า
    • แต่ Startup ใช้แอปพลิเคชันเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างลูกค้า, ร้านค้า และหา Partner อย่างการหาพนักงานส่งอาหารมาร่วมงาน ทำให้สามารถขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว และลงทุนน้อยกว่าธุรกิจ SME นั่นเอง
  • แหล่งเงินทุนที่หลากหลาย Startup แตกต่างจาก SME อีกอย่างหนึ่งคือแหล่งที่มาของเงินทุน
    • ธุรกิจ SME อาจได้ที่มาของเงินทุนเป็นธนาคารต่าง ๆ
    • แต่ Startup จะขายไอเดียว่าธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างไร และโอกาสเติบโตมีแค่ไหน เพื่อขายไอเดียให้กับนักลงทุน ทำให้ Startup มีแหล่งเงินทุนที่ไม่จำกัด อีกทั้งมีเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นกว่าธุรกิจ SME

อยากทำธุรกิจ Startup เริ่มอย่างไรดี ?

          สำหรับใครที่อยากทำธุรกิจ Startup เป็นของตนเอง ไหนดีขอแนะนำขั้นตอนเบื้องต้น สำหรับผู้ที่ต้องการจะเริ่มทำธุรกิจ Startup ว่าควรเตรียมตัว เพื่อจะสร้างธุรกิจของตนให้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง โดยการทำธุรกิจ Startup ควรมีการวางแผนสร้างขั้นตอนเริ่มต้นการทำธุรกิจ ดังนี้

  1. ค้นหาความต้องการของผู้บริโภค ว่าอะไรคือปัญหาที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับการแก้ไข และความต้องการนั้นมีมากน้อยเพียงใด การหาความต้องการของผู้บริโภค ก็เพื่อจะนำไปสู่การคิดไอเดีย, สินค้า และบริการ เพื่อมาแก้ไขปัญหาต่อไป
  2. ค้นหาวิธีแก้ไขปัญหา เมื่อทราบถึงปัญหาของผู้บริโภคที่เราอยากเข้าไปแก้ไขแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การหาวิธีแก้ปัญหาของผู้บริโภคดังกล่าว ว่าเราสามารถผลิตสินค้าหรือบริการใดบ้าง ที่จะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคของเราได้
  3. ทดสอบไอเดีย ธุรกิจ Startup จะดำเนินการสร้างธุรกิจแบบ Test and Learn ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบธุรกิจในยุคก่อน ยกตัวอย่างเช่น
    • ปัญหาการเดินทางไปทำงาน ธุรกิจแบบเดิมอาจไปทุ่มเทสร้างรถยนต์หนึ่งคันจนสำเร็จ แล้วเอาไปเสนอขายผู้บริโภค
    • แต่ Startup จะเริ่มจากสเก็ตบอร์ด แล้วไปถามผู้บริโภคว่าแค่นี้พอใจหรือยัง อยากปรับตรงไหน อยากได้แบบไหน ท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคอาจไม่ต้องการรถยนต์ แต่ต้องการระบบขนส่งสาธารณะดี ๆ แทนก็ได้ ทำให้การทดสอบไอเดียของ Startup สามารถยืนยันได้ว่า สินค้าและบริการของเรา สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าจริง ๆ
  4. หาเงินลงทุน หากเรามีข้อมูลมากพอ ที่พิสูจน์ว่าธุรกิจ startup ของเราตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ และเริ่มมีลูกค้าเข้ามาทดลองใช้บริการ หรือมี Partner เข้ามาร่วมในธุรกิจขอวเรา ขั้นตอนต่อไป คือ การหาแหล่งเงินทุนในการขยายธุรกิจ มีทั้งนักลงทุนทั่วไป หรือนำไอเดียของเราไปประกวดในงานแข่งขัน Startup ซึ่งมีหลายเวทีในประเทศไทย ที่จัดการแข่งขันกันอยู่ หากนักลงทุนสนใจ เราก็จะได้รับเงินสนับสนุนมาขยายธุรกิจต่อไปนั่นเอง

 

Natthasit S.

ผู้สนใจและศึกษาในด้านการเงินและการลงทุน, การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารองค์กร โดยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา Dealer Business Partner Advisor ให้กับกลุ่ม SCG และประสบการณ์ทำงานในบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อที่โตโยต้า ลีสซิ่ง Toyota Leasing (Thailand)

ไหนดี
Logo