APEC คืออะไร ?
APEC ย่อมาจาก Asia – Pacific Economic Cooperation คือ เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่ง APEC ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นเวทีการประชุมในระดับภูมิภาคที่มีความสำคัญ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชาติสมาชิก และสร้างการมีส่วนร่วมการเป็นประชาคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเอเปคได้เริ่มจัดการพบปะระหว่างผู้นำเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีสมาชิกของ APEC รวม 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่
- ออสเตรเลีย
- แคนาดา
- ญี่ปุ่น
- เกาหลีใต้
- จีน
- ฮ่องกง
- นิวซีแลนด์
- สหรัฐอเมริกา
- บรูไนฯ
- อินโดนีเซีย
- มาเลเซีย
- สิงคโปร์
- ฟิลิปปินส์
- ไทย
- จีนไทเป
- ชิลี
- เม็กซิโก
- ปาปัวนิวกินี
- เปรู
- รัสเซีย
- เวียดนาม
APEC จัดตั้งขึ้นเพื่ออะไร ?
เริ่มแรก APEC มีชาติสมาชิกก่อตั้งเพียง 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไนฯ, ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นทางด้านเศรษฐกิจและจัดทำข้อตกลงทางการค้า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชาติสมาชิก ซึ่งไม่มีข้อผูกมัดตายตัว ชาติสมาชิกสามารถลงทุนหรือเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันได้ตามความสมัครใจ
โดยทุกคนรู้หรือไม่? ว่าชาติสมาชิก APEC มีขนาด GDP (Gross Domestic Product) รวมกันกว่า 59.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นตัวเลขถึง 61% ของขนาดเศรษฐกิจโลก (2 ใน 3 ของ GDP โลก) ทำให้ APEC เป็นความร่วมมือทางด้านการค้าและเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด โดยมีมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกเข้าร่วมอย่างครบครัน เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ฯลฯ
การประชุม APEC 2022 ในไทย
ในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อต้อนรับผู้นำและรัฐมนตรีเอเปค ซึ่งจะประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี รวมทั้งคณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค และสื่อมวลชนต่างชาติที่จะเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนการประชุมเอเปค 2022 ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ประเทศไทยได้อะไรจากการจัดประชุม APEC ในปี 2022 ?
สำหรับการประชุม APEC ในเดือนพฤศจิกายนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ หลายคนคงสงสัยว่านอกจากคนกรุงเทพฯจะได้ทำงานที่บ้าน, ได้หยุดงาน แถมรถยังติดอีก แต่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ไหนดี ขอสรุปให้ ดังนี้
- การส่งเสริมภาพลักษณ์ความพร้อมของประเทศ การประชุม APEC ที่มีผู้นำหลาย ๆ ประเทศเดินทางมายังประเทศไทย ย่อมเป็นที่ถูกจับตาและรายงานข่าวไปทั่วโลก ทำให้นักท่องเที่ยว, นักลงทุน ได้เห็นศักยภาพของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน, อาหาร, วัฒนธรรม, แหล่งท่องเที่ยว ฯลน ที่ดึงดูดผู้คนให้มาลงทุน หรือเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย
- ได้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ ระหว่างชาติสมาชิก การประชุม APEC ในปีนี้ ประเทศไทยพุ่งเป้าที่จะผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (FTAAP: Free Trade Area of the Asia-Pacific) ที่ช่วยในด้านการยกเว้นเรื่องของภาษี และให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างกัน ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากข้อตกลงต่าง ๆ ที่จะทำขึ้นในอนาคต
- ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว การประชุม APEC ทำให้ประเทศไทยได้โชว์ศักยภาพการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ ในการจัดประชุมประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงศิลปะวัฒนธรรม, อาหาร หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวออกไปสู่ชาวโลก นอกจากนี้การที่ผู้นำแต่ละประเทศกว่า 21 ประเทศ เดินทางมายังประเทศไทย ย่อมต้องมีผู้ติดตาม รวมทั้งนักข่าวจากทั่วโลก ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคท้องถิ่นไปในตัว
- ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการ ในการประชุม APEC ยังมีเวทีให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ภายในประเทศได้ไปออกบูธจัดแสดงสินค้าและบริการต่าง ๆ แก่ผู้นำของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม หรือผู้ติดตามที่อาจเป็นนายกสมาคมด้านการค้า, นักลงทุน ฯลฯ ทำให้เกิดโอกาสอย่างมากมาย แก่ผู้ประกอบการในไทยในการต่อยอดการขยายธุรกิจของตนเองไปยังต่างประเทศ